“มธ.” ดึงนักเคมีโนเบล ปลูกฝังนักวิทย์สู่ธุรกิจสตาร์ตอัพ

ในประเทศไทยบุคลากรที่จบสายวิทยาศาสตร์ยังมีไม่พอเพียงต่อความต้องการของตลาดแรงงาน เหตุผลเพราะเยาวชนที่มีความถนัดทางด้านสายวิทย์มักจะเลือกเรียนคณะเฉพาะทาง เช่น แพทยศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์, สถาปัตยกรรมศาสตร์ และบางคนอาจมองว่าคณะวิทยาศาสตร์เป็นการเรียนกว้าง ๆ อาจทำให้หางานทำยากกว่า

แต่ในความเป็นจริง การเรียนคณะวิทยาศาสตร์สามารถต่อยอดทำอะไรได้มากมาย เพียงแต่เยาวชนไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จึงพยายามสร้างความเข้าใจ และปั้นนักวิทย์รุ่นใหม่ ผ่านการเรียนการสอนแบบ SCI+BUSINESS เพื่อสร้างคนให้กล้าคิด-กล้าพัฒนานวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ และไม่ปิดกั้นศักยภาพในการต่อยอดความรู้สู่ธุรกิจสตาร์ตอัพ

โดยล่าสุด มธ.จึงเชิญ “ศ.โรเบิร์ต ฮาร์เวิร์ด กรับส์” นักเคมีชาวสหรัฐอเมริกา จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเคมี ปี 2005 มาร่วมแนะแนวทางการต่อยอดองค์ความรู้ทางวิชาการ สู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม และสามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์จริงให้กับเยาวชนและนักวิชาการไทย

“ศ.โรเบิร์ต ฮาร์เวิร์ด กรับส์” กล่าวว่า การเรียนวิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องจบมาทำงานในแล็บ หรือเดินเส้นทางสายนักวิชาการเสมอไป เพราะหากเราหาความรู้เพิ่มเติม รู้รอบด้าน จะทำให้เราประสบความสำเร็จด้านธุรกิจได้ ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์อย่างเดียวเอาไปใช้งานได้ แต่ยังไม่ตอบโจทย์กับการแข่งขันในทางธุรกิจ ดังนั้น นักเรียน นักศึกษาต้องคิดให้รอบคอบ มองสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ทำความเข้าใจว่า วิทยาศาสตร์เป็นอย่างไร สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร แล้วจะเอาไปใช้ประยุกต์กับด้านธุรกิจได้อย่างไร

“สิ่งที่เราควรมีในการต่อยอดวิทยาศาสตร์ไปสู่การพัฒนาเป็นธุรกิจสตาร์ตอัพที่สร้างรายได้ และตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม คือ ทักษะในการแก้ปัญหา จากประสบการณ์ของผมเอง การย้ายตัวเองจากแวดวงการศึกษามาสู่วงการธุรกิจถือว่าค่อนข้างยาก เพราะมีบริบทแตกต่างกันมาก ในด้านวิชาการเรามีหน้าที่ปลูกฝังความรู้ และทำตามสิ่งต่าง ๆ แต่ในบริบทของการทำธุรกิจ คุณต้องโฟกัสสิ่งต่าง ๆ และไม่ใช่ทำอะไรที่เราทำได้ แต่เราต้องมองหาปัญหา และแก้ไขปัญหาให้ดี”

“นอกจากนั้น เรื่องของการหาเงินทุน เราต้องสร้างคอนเน็กชั่นกับภาคธุรกิจ และภาครัฐ แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ทิ้งเรื่องงานวิจัย เพราะงานวิจัยเป็นต้นทางในการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ แต่คนมักจะทำงานวิจัยที่ยังไม่ตรงต่อความต้องการ ทำให้เรื่องราวที่ทำออกมาไม่ถูกนำไปใช้ และไม่มีนักลงทุนให้ความสนใจ”

ขณะที่ “รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ” คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า ทางคณะมองเห็นถึงความจำเป็นในการผลิตคนเพื่อตอบโจทย์นโยบาย Thailand 4.0 ของภาครัฐ ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม

“เราพัฒนาโมเดลการเรียนการสอนของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ให้เป็นแบบ SCI+BUSINESS หรือนักวิทย์คิดประกอบการ ที่เน้นการผสมผสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสมัยใหม่ และการบริหารธุรกิจเข้าด้วยกันทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ทั้งยังใช้โครงงานเป็นฐาน (project-based learning) และโจทย์ปัญหาจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเป็นฐาน (problem-based learning) สู่การพัฒนานวัตกรรมต้นแบบ และสามารถช่วยยกระดับสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

“ที่ผ่านมานักศึกษาของคณะสามารถพัฒนานวัตกรรมได้จำนวนมาก เช่น แอป ดริ๊งเซฟ แอปพลิเคชั่นตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด พร้อมประเมินสมรรถนะในการขับขี่ และเสนอทางออกในการขับขี่ที่ปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ, นวัตกรรมเหล็กกล้าจากขี้เส้นยางพารา ซึ่งเป็นการต่อยอดคุณสมบัติของคาร์บอนในขี้เส้นยางพารา สู่การสร้างรายได้เพิ่มแก่ชาวสวนยาง และลดการนำเข้าคาร์บอนในการผลิตเหล็กกล้าจากต่างประเทศ และแม่เหล็กดูดสาหร่าย นวัตกรรมที่ช่วยเก็บเกี่ยวสาหร่ายขนาดเล็กได้ไวใน 10 วินาที ตอบโจทย์อุตสาหกรรมพลังงานประเทศ”

“รศ.ดร.สุกฤษ ตันตราวงศ์” กล่าวเสริมว่า หลักสูตรผสมผสาน SCI+BUSINESS มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ และกระบวนการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ และสามารถประยุกต์ใช้ความรู้เหล่านั้น เพื่อสร้างสร้างสรรค์และขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างมีศักยภาพผ่านกระบวนการพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่

หนึ่ง ด้านวิชาการ พัฒนาหลักสูตรทั้งหมดใน 16 หลักสูตรภาษาไทย และ 3 หลักสูตรภาษาอังกฤษเสริมรายวิชา และกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารธุรกิจ โดยมีโครงการปริญญาตรีภาคพิเศษ สาขาวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการ (iSC) ให้เป็นหลักสูตรนานาชาติที่เป็นวิทย์-บริหารธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ รวมไปถึงผู้เรียนสามารถเลือกศึกษารายวิชาจากคณะอื่นภายในมหาวิทยาลัยได้ด้วย

สอง ด้านการต่อยอดเชิงธุรกิจ เร่งขยายความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในเรื่องความร่วมมือในการสร้างสรรค์งานวิจัยร่วมกัน โควตาการรับสมัครนักศึกษาเพื่อฝึกงาน

สาม ด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรม สนับสนุนการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ และกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ ที่เป็นประโยชน์แก่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ผ่านคำปรึกษาจากคณาจารย์เจ้าของผลงานนวัตกรรม รางวัลการันตีจากเวทีนานาชาติ

สี่ ด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ ขยายเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ ทั้งภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยชั้นนำ เพื่อมุ่งยกระดับงานวิจัย และหลักสูตรการเรียนรู้ของคณะให้มีคุณภาพเทียบเท่าในระดับสากล รวมไปถึงการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ

“รศ.ดร.สุกฤษ” กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีนักศึกษาที่คณะราว 2,500 คน แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปจำนวนนักศึกษาที่มีความต้องการเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์กลับน้อยลง ถ้าเทียบกับสาขาทางสายศิลป์ แต่ด้วยชื่อเสียงที่ดีมาโดยตลอดของ มธ. ทำให้จำนวนนักศึกษาในคณะนี้ไม่ได้ลดมากนัก

“ทางคณะพยายามเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจไปยังเยาวชนระดับ ม.ปลาย ให้เข้าใจว่าการเรียนคณะวิทยาศาสตร์สามารถนำไปต่อยอดทำงานได้หลากหลายทั้งงาน research and development ในบริษัท, เป็นเจ้าของกิจการ นักวิชาการ หรือแม้กระทั่งเซลส์ ดังนั้น การเชิญ ศ.โรเบิร์ต ฮาร์เวิร์ด กรับส์ มาครั้งนี้ เราจึงทำการประชาสัมพันธ์ไปยังโรงเรียนระดับมัธยมให้พานักเรียนมาร่วมฟังจำนวนมาก โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย”

นับว่าการเรียนวิทยาศาสตร์สามารถต่อยอดไปทำอาชีพได้มากมาย ดังนั้นเยาวชนไทยต้องมีความคิดนอกกรอบ กล้าพัฒนานวัตกรรมที่แตกต่างและสร้างสรรค์ ตลอดจนไม่ปิดกั้นศักยภาพตัวเอง ในการต่อยอดความรู้วิทยาศาสตร์ สู่นวัตกรรมสุดล้ำ หรือธุรกิจสตาร์ตอัพที่สามารถสร้างรายได้ได้ในอนาคต