3 ปีภารกิจยกระดับ “อาชีวะ” วางเป้าเด็กเข้าเรียนเพิ่ม 5%

รัฐบาลได้พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการลงทุน และเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ทั้งนักลงทุนไทยและนักลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) ใน 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา นั่นหมายถึงการจ้างงานจะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้อง “เตรียมคน” ให้พร้อมรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม

โดยเฉพาะคนทำงานที่เรียนจบจากสายอาชีพที่จะกลายเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ EEC

หากมองย้อนไปช่วงปี 2558 หลังรัฐบาลเปิดตัวโครงการสานพลังประชารัฐ ที่มีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพวิชาชีพให้กับนักเรียนอาชีวศึกษา ด้วยการตั้งคณะทำงานด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ (Competitive Workforce) เพื่อสร้างคนอาชีวะรองรับพื้นที่ EEC โดยเฉพาะใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้ง first S-curve และ new S-curve เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ เป็นต้น

“ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะตัวแทนหัวหน้าทีมภาครัฐ คณะทำงานด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ ได้อัพเดตความคืบหน้าในการยกระดับวิชาชีพให้กับนักเรียนอาชีวะในช่วงที่ผ่านมาว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมามีนักเรียนอาชีวะเรียนจบและเข้าสู่ระบบประมาณ 250,000 คน”

“พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าในปี 2561 จำนวนผู้จบอาชีวะจะเพิ่มขึ้นเป็น 268,484 คน รวมถึงมีแนวโน้มว่านักเรียนอาชีวะปรับตัวสู่การใช้แรงงานที่มีทักษะมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ อาจจะมีอาชีวะในบางสาขาที่อาจจะขาดคน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งดำเนินการตั้งแต่ขั้นตอนการร่วมวางหลักสูตร ที่สำคัญคือการมีภาคเอกชนที่จะกลายมาเป็นผู้จ้างงานในอนาคตมาช่วยร่างหลักสูตร ซึ่งจะทำให้ได้รับคนทำงานที่ตรงกับความต้องการมากที่สุด”

สำหรับหลักสูตรที่คณะทำงานได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา เช่น หลักสูตร BTEC (The Business and Tecnology Education Council) ของ Pearson ประเทศอังกฤษ นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรสากลจากประเทศญี่ปุ่นและจีน พร้อมผลิตหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนอาชีวะให้ได้ระดับสากล โดยเริ่มนำร่องในบางสถาบันการศึกษาแล้ว คือ วิทยาลัยอาชีวะขอนแก่น, โรงเรียนจิตรลดา และวิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี ของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)

“โดย 8 จังหวัดในภาคตะวันออกมีวิทยาลัยอาชีวศึกษารวม 58 แห่ง ในส่วนนี้มีจำนวน 12 แห่งที่เข้าร่วมโครงการยกระดับอาชีวะด้วยการใช้หลักสูตรสากล นอกจากนี้ ยังจัดการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงในโรงงานอุตสาหกรรม จากความร่วมมือของเอกชนตั้งแต่ขั้นตอนการรับนักศึกษาและจัดทำหลักสูตรร่วมกัน ไปจนถึงขั้นการฝึกอบรม โดยภาคเอกชนจะจ่ายเงินให้นักศึกษาตามค่าแรงขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด

ขณะที่ “รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานภาคเอกชน ระบุว่า การพัฒนาอาชีวะของคณะทำงานแบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ 1) คณะ Database of Demand and Supply รับหน้าที่พัฒนาฐานข้อมูล คือ demand และ supply และได้นำเสนอภาครัฐแล้วในเฟสแรก และสำรวจความต้องการของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเตรียมคนทำงานให้พร้อมรองรับ และมีแผนที่จะร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อจัดทำ platform เพื่อเชื่อมต่อกันเป็น big data

2) คณะ Standard & Certification มีการกำหนดกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ หรือ NQF (National Qualification Framework) 8 ระดับ เทียบเท่ากรอบของอาเซียน และได้จัดทำข้อเสนอการขับเคลื่อน NQF ผ่านองค์กรกลางเพื่อทำหลักสูตรให้สอดคล้องกัน

3) คณะ Excellent Model School ได้ขยายความร่วมมือเพิ่มจากเดิมที่มีเพียง 7 บริษัท เพิ่มเป็น 21 บริษัท มีสถานศึกษาเข้าร่วม 68 แห่ง จาก 37 สาขา รวมนักศึกษา 13,184 คน ขณะที่เชิงคุณภาพได้ทำแบบประเมินสถานศึกษาเพื่อยกระดับระบบทวิภาคีขึ้นเป็น Excellent Model School ที่มีการประกาศใช้ไปแล้ว

และ 4) คณะ Rebranding ความสำเร็จของการสร้าง “อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ” ส่งผลให้ภารกิจสร้างทัศนคติและให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับการเรียนในอาชีวะให้กับผู้ปกครองและส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อเพิ่มจำนวนผู้เรียน โดยเฉพาะวิชาช่างอุตสาหกรรม และส่งเสริมให้ผู้หญิงหันมาเรียนช่างมากขึ้นที่ต้องการเพิ่มอย่างน้อยร้อยละ 5

“เรากำลังทำเรื่องใหญ่ จึงต้องมีความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาครัฐที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และอาจต้องปรับแก้ไขกฎหมายบางอย่างให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอาชีวะ โดยเข้าไปมีส่วนร่วมทั้ง reskill upskill และ multiskill ตามแนวทางผู้ใช้ร่วมคิด ผู้ผลิตร่วมสร้าง ซึ่งจะทำให้การยกระดับอาชีวะไทยครบถ้วนทุกมิติ”

ส่วนระยะยาว “รุ่งโรจน์” ระบุว่าได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมมือภาครัฐและเอกชนเพื่ออาชีวศึกษาทวิภาคี เช่น ภารกิจพัฒนาการเรียนการสอนแบบทวิภาคี ยกระดับอาชีวะศึกษาทั้งระบบอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

และมองว่าในอนาคตทั้งภาคเอกชนด้านอุตสาหกรรม บริการ และการท่องเที่ยวต่างก็แสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกันสานต่อแผนงานให้สำเร็จเป็นรูปธรรม