“นิปปอนเพนต์” ประกาศ 2 ผู้ชนะ Young Designer Award 2018

หลังจากที่เฟ้นหาอย่างเข้มข้น สำหรับโครงการ Asia Young Designer Award 2018 โดยบริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งล่าสุดได้ 2 ผู้ชนะเลิศ Gold Award จากสาขาสถาปัตยกรรม และการออกแบบตกแต่งภายในเป็นที่เรียบร้อย โดยได้รับเงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท พร้อมเดินทางไปเข้าร่วม Asia Young De-signer Summit กับผู้ชนะเลิศอีก 14 ประเทศทั่วเอเชีย ที่ประเทศสิงคโปร์

ทั้งนี้ ถ้าได้รับรางวัลชนะเลิศสูงสุดระดับเอเชียจะได้เข้าเรียนคอร์สฤดูร้อน 6 สัปดาห์ฟรี ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดสาขาการออกแบบ (Harvard University Graduate School of Design-Harvard GSD) อีกด้วย

“วัชระ ศิริฤทธิชัย” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟโคทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปีนี้โครงการ Asia Young Designer Award จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “FORWARD,Challenging Design Boundaries” เพื่อสนับสนุนให้นักออกแบบรุ่นใหม่แสดงความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ออกมาอย่างไร้ขีดจำกัด พร้อมทั้งตระหนักถึงสถานการณ์ที่ย่านวัฒนธรรมต้องเผชิญกับการพัฒนาใหม่ ๆ

“โดยนักออกแบบที่เข้าร่วมโครงการจะต้องออกแบบไอเดียที่นำเสนอความคิดในการสร้างพื้นที่สำหรับชุมชน สร้างสมดุลระหว่างการพัฒนา การมองเห็นคุณค่าทางวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ความเป็นย่าน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และในปีนี้มีนักศึกษาสาขาวิชาสถาปัตยกรรม และการออกแบบตกแต่งภายใน ส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 1,300 ชิ้นอีกด้วย”

“เราเชื่อว่าผู้ที่ชนะการประกวดทั้งสองประเภทจะสนุกกับกิจกรรมที่สิงคโปร์ เพื่อนำเสนอไอเดียในงานออกแบบ ร่วมกับเพื่อน ๆ นักออกแบบรุ่นเดียวกันจากประเทศต่าง ๆ ทั่วเอเชียและหวังว่าเขาเหล่านั้นจะมีโอกาสเข้าคอร์สฤดูร้อนด้านการออกแบบชนิดเข้มข้นที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สาขาการออกแบบ ในฐานะผู้ชนะระดับเอเชียต่อไปด้วย”

สำหรับผู้ชนะในสาขาสถาปัตยกรรม ได้แก่ “เรืองวิทย์ วีระพงษ์” นักศึกษาชั้นปีที่ 5 จากภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงาน Bang Keao Wave Brace ส่วนผู้ชนะเลิศสาขาการออกแบบตกแต่งภายใน ได้แก่ “เจนจิรา เทียบเพชร” นักศึกษาชั้นปีที่ 5 ภาควิชาสถาปัตยกรรมภายในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กับผลงาน Salt Sustainable Farm

“เรืองวิทย์” บอกว่า ผลงาน Bang Keao Wave Brace หรือแนวกันคลื่นบางแก้ว บริเวณ อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เกิดจากความตั้งใจที่อยากจะแก้ไขปัญหาชุมชนควบคู่ไปกับปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ จึงนำสิ่งที่เกิดขึ้นมาตั้งเป็นโจทย์ประยุกต์กับสิ่งที่ชุมชนมี และการออกแบบที่ทันสมัย

“จนเกิดเป็นการออกแบบที่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อชุมชน และสังคม ด้วยการพัฒนาแนวกันคลื่นไม้ไผ่ที่ชาวบ้านสร้างไว้แล้ว ให้มีความสวยงาม ทันสมัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งการเข้าไปพัฒนานี้จะช่วยรักษาระบบนิเวศ สร้างพันธุ์พืช พันธุ์ปลาที่อุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และพัฒนาต่อยอดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว และแหล่งรวมตัวของคนในชุมชนได้ต่อไป”

ขณะที่ “เจนจิรา” กล่าวว่า ผลงาน Salt Sustainable Farm หรือนาเกลือเพื่อความยั่งยืน ที่ อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เกิดจากการมองเห็นปัญหานาเกลือซึ่งเป็นหนึ่งอาชีพที่สำคัญของประเทศไทยที่ทุกคนมองข้าม จึงต้องการพัฒนาพื้นที่นี้ให้คนที่ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องสามารถทำรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นได้

“งานออกแบบชิ้นนี้ มีดีไซน์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำภูมิปัญญาและพื้นที่ที่ชุมชนมีอยู่มาพัฒนา ทำให้พื้นที่ดังกล่าวเหมาะแก่การทำนาเกลือมากยิ่งขึ้น เพิ่มพื้นที่สำหรับชุมชนในการทำอาชีพอื่นตลอดปี พร้อมสร้างให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวส่งผลให้ชุมชนมีรายได้ตลอดปี สร้างความยั่งยืนและความสมดุลให้แก่การดำเนินชีวิตของพวกเขาได้ต่อไป”

จึงนับเป็นแนวคิดการออกแบบที่น่าสนใจทีเดียว