‘กวดวิชา’หืดจับ ยอดเด็กลดวูบ50% ลดราคา-ติวเตอร์ดังจุดขาย

สถาบันกวดวิชาแข่งเดือด หลังจากยอดนักเรียนลดลงกว่า 50% จากสาขาที่เพิ่มขึ้นและกระจายเปิดในต่างจังหวัด งัดไม้เด็ดลดค่าเรียน กรณีจ่ายทั้งคอร์สตั้งแต่ 20-50% ใช้ครูชื่อดังมาสอน ด้าน “เอ็นคอนเส็ปท์” เผยเทคโนโลยีเปลี่ยน ทำเด็กเลือกเรียนผ่านออนไลน์-มุ่งเข้าเรียนภาคอินเตอร์มากขึ้น

ธุรกิจสถาบันกวดวิชาฮอตฮิตอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา จากความต้องการของผู้เรียนที่ต้องการเรียนเสริม หรือบางคนต้องการสอบเข้าในมหาวิทยาลัยดัง หรือเพื่อเรียนต่อต่างประเทศ เป็นต้น มีการขยายสาขาเพิ่มเติมทั้งในกรุงเทพฯ-ปริมณทล รวมถึงในจังหวัดใกล้เคียงเพื่อความสะดวกและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขันสูง ทำให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชามีจำนวนเข้าเรียนน้อยลงมาก บางโรงเรียนลดลงมากกว่า 50% ฉะนั้น โจทย์สำคัญของสถาบันกวดวิชาในขณะนี้ คือ ต้องมุ่งรักษาฐานลูกค้าที่มีอยู่ให้เรียนต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ลงพื้นที่สำรวจ 3 จุดหลักที่เป็นศูนย์รวมของสถาบันกวดวิชา คือ ห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต กับอาคารวรรณสรณ์ (พญาไท) และสยามสแควร์ ปรากฏทั้ง 3 พื้นที่จะมีโซนที่กำหนดให้เป็นสถาบันกวดวิชาทั้งชั้น โดยในแต่ละแห่งมีสถาบันกวดวิชาประมาณ 50-100 สถาบัน จากการสอบถามพนักงานของแต่ละสถาบันได้ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่า ขณะนี้จำนวนนักเรียนลดลงกว่า 50% โดยนักเรียนที่ยังซื้อคอร์สเรียนต่อนั้น เนื่องจากเป็นลูกค้ามานาน ชอบสไตล์การสอนที่ตอบโจทย์ความต้องการได้ เมื่อประเมินในเบื้องต้นพบว่า จากเดิมที่ไม่ว่าจะเป็นช่วงปิด-เปิดเทอมจะมีนักเรียนเข้ามาซื้อคอร์สค่อนข้างมาก แต่ปัจจุบันจะคึกคักในช่วงปิดเทอม ยกเว้นสถาบันกวดวิชาที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

สาเหตุสำคัญที่ทำให้จำนวนนักเรียนน้อยลงก็คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจ, อัตราการเกิดของประชากรน้อยลง, การแข่งขันสูง, การมีสถาบันกวดวิชารายใหม่เข้ามาในตลาดนี้มากขึ้น ประกอบกับหลายสถาบันได้ขยายสาขาหรือขายแฟรนไชส์ให้กับลูกค้าที่สนใจ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการขยายไปยังพื้นที่จังหวัดที่ติดกับกรุงเทพมหานคร เช่น จังหวัดสระบุรี และนครนายก ทำให้นักเรียนที่เรียนในสาขาฟิวเจอร์พาร์คเลือกลงเรียนในต่างจังหวัด เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

นอกจากนี้ สถาบันกวดวิชาหลายแห่งยังเลือกใช้วิธีการ “จูงใจ” นักเรียนให้เข้ามาเรียนกับตน หนีการแข่งขันที่สูงขึ้น อาทิ การปรับลดราคาคอร์สเรียนลดลงมากกว่า 50% โดยเฉพาะในกรณีที่จ่ายสดครบคอร์สก็จะบวก “ส่วนลด” เพิ่มให้อีก และสามารถทยอยจ่ายค่าเรียนและเลือกจ่ายค่าเรียนตามจริงได้, การใช้ครูชื่อดัง เช่น ครูอุ๊ (เชี่ยวชาญด้านเคมี) ครูซุปเค (เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์) และครูที่มาจากมหาวิทยาลัยท็อปไฟฟ์เท่านั้น อย่างเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเป็นจุดขาย, พยายามให้วิชาที่เปิดสอนมีความหลากหลายมากขึ้น, เพิ่มการสอนแบบติวเข้มในวิชาเฉพาะทางที่ต้องการสอบเข้า เช่น แพทย์ หรือเตรียมตัวแข่งในเวทีวิชาการ อย่างเช่น คณิตศาสตร์โอลิมปิก, ให้นักเรียนเลือกสาขาที่สะดวกเดินทางได้ด้วย และมีระบบเช็กการเข้า-ออกเพื่อให้ผู้ปกครองได้ตรวจสอบการเข้าเรียนของนักเรียนได้

อย่างไรก็ตาม วิธีการสอนที่นับเป็นจุดแข็งที่ทำให้นักเรียนสนใจเข้ามาเรียนกับสถาบัน ยังคงเป็นการเรียนสดกับครูผู้สอน เรียนผ่านวิดีโอที่สามารถนำกลับไปเรียนที่บ้าน หรือเรียนกับคอมพิวเตอร์ที่จัดไว้ให้ในชั้นเรียนในแต่ละสาขา แต่นักเรียนส่วนใหญ่ต้องการเรียนสดกับครูเพื่อถามในข้อสงสัยได้ทันที

นายแพทย์ธรรมศักดิ์ เอื้ออภิธร ผู้จัดการทั่วไป โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษเอ็นคอนเส็ปท์ กล่าวว่า การพัฒนาของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วทำให้ภาพการเรียนการสอนเปลี่ยนไป คือ นักเรียนหันมาใช้วิธีเรียนผ่านออนไลน์มากกว่าเรียนในชั้นเรียน รวมถึงค่านิยมของนักเรียน-นักศึกษาที่ต้องการเข้าเรียนภาคอินเตอร์มากขึ้น ทั้งที่เรียนในไทยและไปเรียนในต่างประเทศ ทั้ง 2 ส่วนนี้มีอัตราค่อนข้างสูง ทำให้สถาบันกวดวิชาได้รับผลกระทบไปด้วย และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีนักเรียนที่เลือกใช้วิธีติวเตอร์แบบตัวต่อตัวก็มีแนวโน้มขยายตัวเช่นกัน ซึ่งผู้ประกอบการสถาบันกวดวิชาจะต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในธุรกิจนี้

“เฉพาะที่ย้ายไปเรียนออนไลน์ของเอ็นคอนเส็ปท์น่าจะอยู่ที่ 20-30% ได้ การเรียนแบบเดิมจึงต้องลดลงเป็นเรื่องปกติ เราได้เห็น S-curve ของสถาบันกวดวิชามาแล้วหลายปี จนกระทั่งเกิดรูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นที่มาช่วยเพิ่มการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงจากเดิมที่ครูเป็นเสมือนแบรนด์ของสถาบัน
ก็จะเปลี่ยนไป เพราะในยุคนี้นักเรียนไม่ได้สนใจชื่อเสียงของครู แต่สนใจในการใช้รูปแบบการเรียนที่ตอบโจทย์มากกว่า” นายแพทย์ธรรมศักดิ์กล่าว

ในแง่ของการแข่งขันในธุรกิจสถาบันกวดวิชาในปีนี้ น่าจะ “ลดความรุนแรงลงด้วย” เนื่องจากระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปัจจุบันทำให้การแข่งขันน้อยลง ฉะนั้น การเรียนในสถาบันกวดวิชาเพิ่มจึงมีความจำเป็นน้อยลงด้วย นอกจากนี้ ยังรวมถึงค่านิยมในการเลือกคณะเรียนในระดับมหาวิทยาลัย จากเดิมที่คณะวิศวกรรมฯ และคณะแพทย์ ได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ปัจจุบันการสอบเข้าคณะวิศวกรรมฯง่ายขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องเพิ่มการเรียนกวดวิชาได้เช่นกัน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!