ผลิตข่าวกับ “พานาโซนิค” ค้นหาตัวเอง-คิดสร้างสรรค์

ทวีความเข้มข้นขึ้นทุกขณะสำหรับ “โครงการสร้างสรรค์ ฉลาดคิด ผลิตข่าวกับพานาโซนิค ประจำปี 2560” (PanasonicKids Witness News 2017) ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนระดับประถม และมัธยมศึกษา อายุระหว่าง 10-18 ปี แสดงความสามารถในการผลิตคลิปวิดีโอสร้างสรรค์ที่สะท้อนประเด็นต่าง ๆ ทางสังคมผ่านมุมมองของคนรุ่นใหม่

โดยตั้งแต่เปิดรับสมัคร มีเยาวชนจากโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศส่งผลงานเข้าร่วมประกวดมากถึง 82 ทีม คณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกทีมที่มีผลงานโดดเด่น 16 ทีม เข้าค่ายพัฒนาผลงาน (Workshop) ก่อนนำความรู้ที่ได้ไปผลิตชิ้นงานสำหรับการแข่งขันในรอบที่ 2 ต่อไป

“ศิริรัตน์ ยงค์เจริญชัย” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท พานาโซนิค แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กลุ่มบริษัทพานาโซนิคในประเทศไทยดำเนินโครงการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 14 โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนแสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถของตัวเองเพื่อสะท้อนให้ผู้ใหญ่รู้ว่าพวกเขามีมุมมองต่อเรื่องต่าง ๆ ในสังคมอย่างไร

“สำหรับผลงานที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้จะต้องนำเสนอภายใต้แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม การสื่อสาร หรือกีฬา ซึ่งน้อง ๆ จะถ่ายทอดออกมาให้รูปแบบใดก็ได้ ผู้ชนะการแข่งขันในระดับประเทศ จะได้เป็นตัวแทนเยาวชนไทยไปแสดงศักยภาพในเวทีระดับนานาชาติต่อไป”

“กิจกรรม Workshop ตลอดทั้ง 3 วัน เด็ก ๆ จะได้ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ พร้อมกับเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ในการผลิตคลิปวิดีโอ เริ่มตั้งแต่การคิดประเด็นเพื่อสื่อสารให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย การเล่าเรื่องให้น่าสนใจ รวมไปถึงเทคนิคการใช้กล้อง”

Advertisment

นอกจากจะได้ความรู้ด้านทฤษฎีจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในสาขานิเทศศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญในแวดวงสื่อสารมวลชน ยังได้ไปศึกษาดูงานกระบวนการถ่ายทำรายการข่าว ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 รวมถึงได้ทดลองใช้กล้อง Panasonic Lumix G Series ซึ่งถ่ายได้ทั้งภาพนิ่ง และวิดีโอ ในการสร้างสรรค์ผลงานจริง ๆ ด้วย

“ผศ.ดร.ลักษณา คล้ายแก้ว” ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต และอาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยุโทรทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต หนึ่งในคณะกรรมการที่มาให้ความรู้แก่เยาวชน บอกว่าการทำสื่อไม่ว่าประเภทใดก็ตาม ต้องคิดพิจารณาด้วยว่าในเรื่องราวนั้น ๆ จะหยิบแง่มุมใดมาเล่า และจะถ่ายทอดอย่างไรให้น่าสนใจ

“จุดหนึ่งที่สำคัญคือการสร้างจังหวะในการเล่าเรื่อง เทคนิคคือต้องมีจุดเริ่มต้นที่ดึงดูดความสนใจ ระหว่างทางต้องเห็นพัฒนาการของเรื่องราว ที่สำคัญคือจะจบเรื่องอย่างไรให้คนดูเกิดความจับใจและจดจำ”

“ด.ช.โภคิน ตุลาประพฤทธิ์” นักเรียนชั้น ม.3 ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัยหนึ่งในเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ บอกว่าสมัครเข้าร่วมโครงการ เพราะอยากเปิดประสบการณ์เกี่ยวกับการผลิตสื่อ และต้องการท้าทายกับความสามารถของตัวเอง จะได้รู้ว่าฝีมือตัวเองอยู่ในระดับไหนเมื่อเทียบกับคนอื่น ๆ

Advertisment

“อยากบอกเพื่อน ๆ ที่สนใจงานด้านนี้แต่ยังไม่มีความกล้าว่า อย่ากลัวที่จะเริ่มลงมือทำ และเมื่อทำแล้ว ต้องพยายาม อย่าท้อแท้ ทุกอย่างมีอุปสรรคอยู่แล้ว แต่ถ้าเราพยายามก็จะผ่านมันไปได้”

ขณะที่ “ด.ช.ภูวเดช วุฒิจักร” นักเรียนชั้น ป.4 ร.ร.กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย บอกว่า สนใจเกี่ยวกับการทำคลิปวิดีโอจึงสมัครเข้าร่วมโครงการ และกิจกรรมเวิร์กช็อปทำให้ได้ความรู้ใหม่เกี่ยวกับการถ่ายภาพหลากหลาย

“ปกติผมเป็นคนชอบถ่ายภาพอยู่แล้ว เพราะภาพถ่ายเป็นเหมือนบันทึกความทรงจำ สำหรับผลงานที่จะส่งเข้าประกวดในรอบต่อไป ตั้งใจจะทำวิดีโอรณรงค์เรื่องการปลูกต้นไม้ โดยถ่ายทอดในรูปแบบของการรายงานข่าว เพราะตัวเองอยากเป็นผู้ประกาศข่าวด้วยเช่นกัน”

นับเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้แสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์ และสามารถค้นพบความชอบของตัวเองที่จะเป็นบันไดไปสู่การเรียนในระดับมหาวิทยาลัย และในเส้นทางอาชีพต่อไป