“มกธ.” รุกตลาดออนไลน์ จับแรงงานไทยใน ตปท.-สังคมผู้สูงอายุ

เพราะที่นั่งเรียนในระดับอุดมศึกษาเหลือมากกว่า 200,000 ที่นั่งในปัจจุบัน จึงส่งผลให้การแข่งขันธุรกิจการศึกษามีความดุเดือด ผลเช่นนี้ จึงทำให้ภารกิจของทุก ๆ มหาวิทยาลัยต่างงัดทุกกลยุทธ์เพื่อดึงดูดนักศึกษาให้เข้ามาเรียนให้ได้มากที่สุด ทั้งนักศึกษาไทยและจากต่างประเทศ อย่างเช่น ประเทศจีน และประเทศเพื่อนบ้าน

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์“ว่าที่ ร.ต.ดร.อนันต์ โพธิกุล” ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาทางไกล มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี (มกธ.) ที่ปัจจุบันพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ เพื่อเสิร์ฟองค์ความรู้ให้กับนักศึกษาที่ชอบการเรียนการสอนประเภทนี้ถึงประตูบ้าน เพราะสามารถช่วยลดข้อจำกัดในการเดินทางและช่วยลดค่าใช้จ่ายสำหรับการเรียนมหาวิทยาลัยในระบบปกติ

สำหรับ ม.กรุงเทพธนบุรีทดลองเปิดหลักสูตรออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2560 ในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท โดยมุ่งเน้นที่คณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการ,การจัดการโลจิสติกส์ รวมถึงคณะรัฐศาสตร์ ในสาขารัฐประศาสนศาสตร์ เพียงแต่ระยะเริ่มต้นอาจแค่ทำการประชาสัมพันธ์จึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่ปัจจุบันเริ่มมีนักศึกษาให้ความสนใจเข้ามาเรียนในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น

“ว่าที่ ร.ต.ดร.อนันต์” บอกว่า การเรียนผ่านระบบออนไลน์ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1) เรียนจากชุดหนังสือ เหมือนกับการเรียนของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2) เรียนจากการใช้สื่อหลักคือ ระบบออนไลน์ ที่มีการจำลองห้องเรียน หน้าที่ของอาจารย์และนักศึกษา ผนวกเข้ากับการนำ social media เข้ามาใช้ เช่น การทดสอบก่อนเรียน หลังเรียน อีกทั้งนักศึกษายังสามารถเข้ามาดูรายละเอียดของรายวิชาย้อนหลังได้ ในส่วนของการวัดและประเมินผลมีการตรวจสอบทันที และมี feedback ไปยังนักศึกษาทันทีเช่นกัน และ 3) ทีวีออนไลน์ ซึ่งจะมีการกำหนดวัน-เวลาเรียนที่ชัดเจน ด้วยการเรียนผ่านทีวีที่ผู้เรียนจะได้พบกับอาจารย์ผู้สอน ทั้งนักศึกษายังสามารถซักถามอาจารย์ผ่านกล้องได้ ที่สำคัญ คือ รายละเอียดของเนื้อหาที่มีการเรียนการสอนไปแล้วนั้น ยังสามารถเปิดดูย้อนหลังได้อีกด้วย

เมื่อถามถึงการพิจารณาว่าจะเลือกหยิบหลักสูตรใดมาทำในรูปแบบออนไลน์ “ว่าที่ ร.ต.ดร.อนันต์” อธิบายว่า จะต้องพิจารณาจาก “ความต้องการ” ของตลาดเป็นหลัก จากทั้งนักศึกษาที่เข้ามาเรียน และสำรวจความต้องการของผู้เรียนในระยะ 20 กิโลเมตร จากมหาวิทยาลัยอีกด้วย ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากจุดแข็งของมหาวิทยาลัยที่สามารถแข่งขันได้ คือ สายสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะสาขาการจัดการที่นักศึกษาสามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานที่หลากหลายได้

“หลักสูตรที่หยิบมาทำรูปแบบออนไลน์เป็นสาขาที่มีอยู่แล้วในการเรียนปกติทุก ๆ ชั้นเรียน ด้วยเหตุที่ว่าขณะนี้นักเรียนที่จบการศึกษาในระดับ ม.6 ในปัจจุบันมีน้อยมาก และมีปัญหาด้านการเงินรวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทำให้ไม่มีโอกาสเข้าเรียน การเรียนออนไลน์จะเข้ามาทลายข้อจำกัดเหล่านี้ รวมถึงยังตอบโจทย์นโยบายของภาครัฐที่ต้องการให้นักศึกษาเข้าถึงการศึกษาในหลายช่องทาง”

ทั้งนี้ “ว่าที่ ร.ต.ดร.อนันต์” ยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ท่านอธิการบดี (ผศ.ดร.บังอรเบ็ญจาธิกุล) ยังกำหนดนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเรียนในรูปแบบออนไลน์ว่าจะต้องมีคุณภาพ และมาตรฐานที่ “ไม่แตกต่าง”จากการเรียนในห้องเรียนปกติ เน้นคุณภาพและต้องดู out putที่จะออกไปสู่ตลาดงานอีกด้วยและในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ยังกำหนดอัตราค่าเรียนให้เท่ากับหลักสูตรปกติ คือ ในระดับ ป.ตรีอยู่ที่ประมาณ 197,000 บาท ตลอดระยะเวลาหลักสูตร 4 ปี และประมาณ 150,000 บาท ในระดับ ป.โทคำว่าหลักสูตร “คุณภาพ” ในความหมายของ ม.กรุงเทพธนบุรี คือ

1) เนื้อหาสาระต้องเต็มที่ ทั้งยังเป็นเนื้อหาที่ใช้เรียนในชั้นเรียนปกติ 2) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักศึกษาด้วยการบันทึกเทปการเรียนการสอนทุกรายวิชาซึ่งนักศึกษาสามารถฟังซ้ำได้ตลอด และสามารถซึมซับความรู้จากอาจารย์ทุกท่านได้ทั้งหมด 3) นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติ และทดสอบตัวเองจากสิ่งที่เรียนมาได้อีกด้วยเพราะการทำแบบทดสอบจะผ่านระบบมาตรฐาน รวมถึงการทำแบบฝึกหัด ซึ่งมีการออกแบบไว้ค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การพิมพ์, การเขียน หรือการถ่ายรูปส่งอาจารย์ผู้สอนก็ได้

นอกจากจะเพิ่มช่องทางการเข้าถึงการเรียนแล้ว ในมุมของสถาบันการศึกษามหาวิทยาลัยต้องการรักษาฐานของนักศึกษาเอาไว้ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะนักศึกษาเดิมจากระดับ ป.ตรี ให้เรียนต่อในระดับ ป.โท โดยเพิ่มแรงจูงใจสำหรับนักศึกษาเดิม หากต้องการเรียนต่อจะได้รับ”ส่วนลด” ค่าเทอม 20,000 บาท และสามารถ”ผ่อนจ่าย” ค่าเทอมได้ รวมถึงการเรียนในรูปแบบออนไลน์ยังช่วย “ร่นเวลาเรียน” เพราะใช้เวลาเรียนในระดับปริญญาตรีเพียง 3 ปีครึ่ง เท่านั้นเอง

“จริง ๆ ต้องบอกว่า ระยะเวลาเรียน 3 ปีครึ่ง คงอยู่ที่ตัวนักศึกษาว่าจะขยันเรียนต่อเนื่องหรือไม่ แต่เราไม่สามารถร่นระยะเวลาเรียนได้มากกว่า 3 ปีครึ่งเพราะนักศึกษาจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแล ว่าในแต่ละเทอมสามารถลงเรียนได้ไม่เกิน 22 หน่วยกิตและในช่วงซัมเมอร์จะลงเรียนได้ไม่เกิน 9 หน่วยกิต เพราะมีหน่วยงานรัฐจะทำหน้าที่ประเมินความสามารถนักศึกษาสำหรับการเรียนในช่วงปีการศึกษานั้น ๆ”

นอกจากนั้น “ว่าที่ ร.ต.ดร.อนันต์” ยังขยายภาพให้เห็นถึงนโยบายของ ม.กรุงเทพธนบุรี ที่สอดรับกับนโยบายของภาครัฐ คือ นโยบายไทยแลนด์ 4.0 คือปัจจุบันระบบราชการมีการพัฒนาด้านโซเชียลมีเดียอย่างมาก รวมถึงความก้าวหน้าทางด้านไอทีต่าง ๆ ดังนั้น แผนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยจึงมองไปถึงโอกาสในการเปิดหลักสูตรออนไลน์เพิ่มเติมในอนาคต ทั้งยังมีแนวคิดที่จะนำหลักสูตรออนไลน์ในรายวิชาที่เน้นการบรรยายเชิงทฤษฎีเข้ามาปรับใช้กับสาขานิเทศศาสตร์ และนิติศาสตร์ด้วย

“สำหรับอนาคตของ ม.กรุงเทพธนบุรี ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ เราไม่เพียงจะขยายฐานผู้เรียนโดยใช้รูปแบบการเรียนออนไลน์ยังวางแผนเพื่อช่วยคนวัยทำงานที่ไม่มีเวลาเรียน หรือทำงานในต่างประเทศโดยเฉพาะในไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ พวกเขาต้องทำงานในประเทศเหล่านั้นนาน ๆ จึงต้องกำหนดคุณสมบัติพื้นฐานของผู้เรียนคือต้องจบปริญญาตรี เพื่อจะได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่าง ๆ”

“เพราะแรงงานที่ยังเรียนไม่จบจะมีปัญหามาก คือ มีการปลอมแปลงวีซ่า หรืออื่น ๆ ฉะนั้น จะทำอย่างไรให้คนไทยที่อยู่ในต่างประเทศได้เรียนจนจบปริญญา ผมจึงมองว่าการเรียนผ่านระบบออนไลน์เป็นคำตอบดีที่สุดในขณะนี้ เพราะไม่เพียงเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับแรงงานไทยในต่างประเทศ หากยังช่วยทำให้แรงงานทุกคนที่อยากเรียนหนังสือมีช่องทางที่จะเรียนได้ทันที ซึ่งตรงนี้เรามีความพร้อม เพราะเรามีพันธมิตรที่จะให้การสนับสนุนในการสอบสำหรับแรงงานในต่างแดนด้วย”

ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ “ว่าที่ ร.ต.ดร.อนันต์” ระบุว่า ฐานข้อมูลแรงงานและความต้องการคนทำงานจะช่วยเพิ่มช่องทางการขยายผู้เรียนในตลาดอื่นได้เพิ่มอีก เพราะการศึกษาไทยยังต้องเผชิญกับปัญหานักศึกษาลดลง

ดังนั้น ม.กรุงเทพธนบุรี จึงพุ่งเป้าไปที่คนวัยทำงานที่ต้องการความรู้เพิ่มเติม และที่สำคัญ คือ ต้องการลดค่าใช้จ่ายในการเรียน ดังนั้น หลักสูตรออนไลน์จึงตอบโจทย์ทุกด้าน เพราะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 30% ยิ่งไปกว่านั้นในปี 2563 ยังเตรียมขยายฐานกลุ่มผู้เรียนอีกกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มของข้าราชการ และพนักงานเกษียณที่เตรียมจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทั้งในไทย และต่างประเทศอีกด้วย