จุฬาฯ เตรียมแผนเปิดทำการ จัดทำระบบตรวจคัดกรองไวรัสโคโรนา 2019

จุฬาฯ เตรียมแผนเปิดทำการ จัดทำระบบตรวจคัดกรองไวรัสโคโรนา 2019 เบื้องต้น สำหรับบุคลากรผ่านระบบออนไลน์

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งมหาวิทยาลัยได้มีประกาศปิดที่ทำการชั่วคราวจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเฝ้าดูสถานการณ์นั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เตรียมระบบการตรวจคัดกรองไวรัสโคโรนา 2019 ผ่านระบบออนไลน์แก่บุคลากรจุฬาฯ

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดทำการตามปกติ ช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเป็นการสร้างความมั่นใจในการที่จะเข้ามาปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเตรียมแผนเพื่อเปิดทำการเป็น 2 ระยะ ดังนี้

1. ระยะแรก ระหว่างวันที่ 4 – 21 มิถุนายน 2563 โดยให้จัดสรรจำนวนบุคลากรที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานต่อบุคลากรที่ปฏิบัติงาน ณ สถานที่พักอาศัยของตนเอง ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 40:60

ขอให้คณบดีและหัวหน้าส่วนงานสั่งการให้บุคลากรทุกคนที่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในระยะแรก ผู้ที่เสี่ยงมีอาการรุนแรงหากติดเชื้อและผู้ที่เสี่ยงแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา 2019  ลงทะเบียนทำแบบประเมินสุขภาพออนไลน์เพื่อคัดกรองเบื้องต้นในระบบตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน 2563 ได้ที่ https://lin.ee/nkPjyO2

โดยให้เก็บภาพถ่ายหน้าจอแสดงผลการการคัดกรองสุขภาพเบื้องต้น หรือใบรับรองจากศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยืนยันว่าสามารถเข้ามาปฏิบัติงานได้ และขอให้หัวหน้าส่วนงานแจ้งรายชื่อและจำนวนบุคลากรผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้มาที่ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ ภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2563

แนวปฏิบัติสำหรับกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับการประเมินมีดังนี้

– กลุ่มที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองโดยเร็ว ให้ทำการนัดหมายเพื่อตรวจ      คัดกรองไวรัสโคโรนา 2019 ณ ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ ได้ทันที โดยไม่มีค่าใช้จ่าย (ตรวจแบบ RT-PCR ซึ่งเป็นการตรวจสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูกและคอหอย และตรวจด้วยชุดตรวจ Chula Baiya COVID-19 Strip Test ซึ่งเป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยใช้วิธีการเจาะเลือด

– กลุ่มที่แนะนำให้เข้ารับการตรวจคัดกรองเพื่อความปลอดภัย สามารถทำการนัดหมายเพื่อตรวจคัดกรอง COVID-19 ในระบบได้ตามความสมัครใจ หลังวันที่ 4 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป              ณ ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

– กลุ่มที่ไม่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจคัดกรอง แต่หากมีอาการน่าสงสัย เช่น ไอ จาม มีไข้ ปวดเนื้อปวดตัว หายใจลำบาก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส สามารถติดต่อศูนย์บริการสุขภาพแห่ง  จุฬาฯ เพื่อเข้ารับการตรวจคัดกรองได้

2. ระยะที่สอง ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป เปิดให้บุคลากรที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานได้ไม่เกินร้อยละ 50 แต่คณะ/หน่วยงานต้องดำเนินการจัดสถานที่และระเบียบวิธีการเข้าปฏิบัติงานเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้เหมาะสมตามมาตรฐาน New Normal

ทั้งนี้ แผนเปิดทำการของมหาวิทยาลัยอาจมีการเปลี่ยนแปลง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของประเทศไทยในขณะนั้นๆ หากมีการเปลี่ยนแปลงจะแจ้งให้ทราบต่อไป

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์สายด่วน COVID-19 ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ โทร. 08-0441-9041 (เวลา 08.00 – 20.00 น.) โทร. 0-2218-0568 (เวลา 08.00 – 15.00 น.)