จุดประกายไอเดีย สร้างนักวิจัยเชิงนโยบาย

“Redesigning Thailand” เวทีเปิดกว้างประลองความคิดด้านนโยบายสาธารณะสำหรับนักศึกษาทั่วประเทศ จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มีเป้าหมายเพื่อจุดประกายไอเดียให้กับนักศึกษาที่ต้องการออกแบบนโยบายเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยมีกิจกรรมมุ่งสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักศึกษากับนักวิจัย TDRI เพื่อส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ก้าวสู่เส้นทางนักวิจัยเชิงนโยบายต่อไปในอนาคต โดยจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 แล้ว

สำหรับปีนี้มาในชื่อ “เปิดแคมป์ จับระบบการศึกษาไทยมาปรับทัศนคติ” ตั้งโจทย์ท้าทายความคิดคนรุ่นใหม่ว่าทัศนคติทางการศึกษาเรื่องใดที่เป็นปัญหาต่อการพัฒนาการศึกษาไทย และจะใช้มาตรการ/นโยบายใด เพื่อปรับทัศนคติการศึกษาไทยให้ดีขึ้น

“ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธาน TDRI หนึ่งในคณะกรรมการร่วมตัดสินกล่าวว่า ทุกคนเห็นตรงกันว่าการศึกษาไทยมีปัญหา แต่ยังเกิดข้อถกเถียงว่าแล้วจุดไหนเป็นปัญหาของการศึกษาไทย ซึ่งมักมีการหาแนวทาง และความคิดปฏิรูปการศึกษาจากผู้ทรงคุณวุฒิ หรือคนที่ทำงานการศึกษามานาน

“สิ่งที่ได้ตามมาคือแนวคิด หรือภูมิปัญญาดี ๆ แต่อาจติดกับดักแนวทางแก้ไขเดิม ๆ เวที Redesigning Thailand จึงมุ่งเป้าไปที่การแก้ปัญหาการศึกษา เพื่อได้เห็นแนวคิดใหม่ ๆ จากคนที่อยากทำงานปฏิรูปการศึกษาของประเทศเช่นกัน นั่นคือกลุ่มนักศึกษา ที่จะอยู่กับผลพวงของการศึกษาไทยต่อไปในอนาคต”

“เราอยากรู้ว่าถ้าจะพัฒนาการศึกษาของประเทศ ทัศนคติของคนต้องเปลี่ยนอะไรบ้าง และเปลี่ยนอย่างไรจากมุมมองเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพราะการปฏิรูปการศึกษา ใช่ว่าจะเกิดจากใครสักคนที่มีอำนาจแล้วสั่งการ ถ้านักเรียน นักศึกษา พ่อแม่ และครู รวมทั้งกระทรวงศึกษาธิการ ยังมองปัญหาการศึกษาไปคนละทิศทาง ก็จะไม่มีทางปฏิรูปการศึกษาได้”

ทั้งนั้น นักศึกษาจะเข้าร่วมปรับปรุงพัฒนาหัวข้อกับนักวิจัย TDRI และนำเสนอต่อคณะกรรมการตัดสิน รวม 6 ทัศนคติทางการศึกษา ได้แก่ การเรียนอาชีวะ, การศึกษาที่ดีมาจากอำนาจและการรวมศูนย์, การบริหารจัดการศึกษาที่ดีมาจากส่วนกลาง, เรียนไปก็ใช้ไม่ได้, ครูคือผู้นำของการเรียนรู้ในห้องเรียน และเด็กดีต้องเชื่อฟังครู

สำหรับผลการตัดสิน ทีมคว้ารางวัลชนะเลิศจับทัศนคติการศึกษามาปรับใหม่ ได้แก่ ทัศนคติเด็กดีต้องเชื่อฟังครู ของทีมนักศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์ (นานาชาติ) จุฬาฯ คือสิรภพ ลู่โรจน์เรือง, วรลักษณ์ ภักตร์อำไพ และพงศรากร ปาแก้ว นักศึกษาจากคณะการสื่อสารมวลชน ม.เชียงใหม่

โดยนักศึกษาวิเคราะห์ว่าทัศนคติเด็กดีต้องเชื่อฟังครูเกิดจากปัจจัยด้านตัวครูที่วางตนเป็นผู้ตัดสินถูกผิดในลักษณะอำนาจนิยม รวมทั้งในกลุ่มเพื่อนนักเรียนที่มองว่าใครถามมาก แสดงถึงความอวดรู้ หรือถูกรบกวน ทำให้นักเรียนขาดความมั่นใจ รู้สึกว่าหากถามแล้วจะรู้สึกแปลกแยก จึงมีความเขินอาย และไม่กล้าถาม ด้วยบรรยากาศเช่นนี้ ทำให้นักเรียนเกิดทัศนคติไม่กล้าตั้งคำถาม เมื่อไม่กล้าถามจะส่งผลให้ไม่เกิดความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งมีความเชื่อมโยงไปถึงการต่อยอดทางความรู้ ความคิด และการใช้ชีวิต หรือการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ

ข้อเสนอและแนวทางแก้ไขคือการจัดหลักสูตรการละครเพื่อการศึกษา (Drama Education) โดยเริ่มตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 เพื่อกระตุ้นความกล้าแสดงออกให้กับเด็ก และบูรณาการวิชาดังกล่าวร่วมกับวิชาอื่นในชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และสังคมศึกษา เพื่อให้เด็กมีความรู้ทางวิชาการควบคู่กับการสร้างพื้นฐานความกล้าลองผิดถูก จนนำไปสู่การกล้าคิด และกล้าตั้งคำถามต่อไปในอนาคต

สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ ทัศนคติ ครูคือผู้นำของการเรียนรู้ในห้องเรียน ไอเดียของทีมนักศึกษาจากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้แก่ จิดาภา วิทยาพิรุณทอง, กมลฉัตร นุใหม่ และอณิษฐา หะยีลาเต๊ะ

ขณะที่รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ ทัศนคติการศึกษาที่ดีมาจากอำนาจและการรวมศูนย์ ไอเดียจากทีมนักศึกษาคณะสื่อสารมวลชน ม.รามคำแหง คือ ยศกร นาแพง และวังวิช ตรีสุคนธวงศ์ จากวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ