อว. ประกาศมาตรการเฝ้าระวังโควิด สั่งมหาลัยลดค่าเรียน ค่าธรรมเนียม 

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ออกประกาศมาตรการเผ้าระวังโควิด สั่งมหาวิทยาลัย หน่วยงานในสังกัด งดจัดกิจกรรม-ใช้สถานที่ พร้อมช่วยเหลือนิสิต นักศึกษา ลดค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บพิเศษ

วันที่ 29 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ออกประกาศมาตรการเผ้าระวังโควิด ฉบับที่ 15 สำหรับสถาบันอุดมศึกษาในการจัดการเรียนการสอน และการดูแลความปลอดภัยของนิสิต นักศึกษา และหน่วยงานภายใน อว.รวมถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือ 

มีรายละเอียดดังนี้ 

1.มาตรการสำหรับสถาบันอุดมศึกษาในการจัดการเรียนการสอนและการดูแลความปลอดภัยของนิสิต นักศึกษา

1.1 พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามใช้อาคารหรือสถานที่ของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งการสอบ การฝึกอบรมหรือกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่โรค เว้นแต่เป็นการใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อจัดกิจกรรมตามแนวทางหรือลักษณะที่นายกรัฐมนตรี หรือศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (ศบค.) ได้อนุญาตไว้แล้ว ให้สามารถดำเนินการได้ โดยเสนอต่อศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (ศปก.ศบค .) พิจารณาก่อนดำเนินการ หรือเป็นกรณีที่เคยให้ได้รับยกเว้น ดังต่อไปนี้

1)เป็นการเรียนการสอนหรือกิจกรรมเพื่อการสื่อสารแบบทางไกลหรือด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

2)เป็นการใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อให้ความช่วยเหลือ สงเคราะห์ อุปถัมภ์ หรือให้การอุปการะแก่บุคคล

3)เป็นการจัดกิจกรรมของทางราชการหรือกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด

1.2 พื้นที่ควบคุมสูงสุด สามารถใช้อาคารหรือสถานที่ของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งการสอบ การฝึกอบรมหรือกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยให้พิจารณาตามความจำเป็น และดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ

1.3พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เฝ้าระวังสูง สามารถใช้อาคารหรือสถานที่ของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งการสอบ การฝึกอบรมหรือกิจกรรมใด ๆ ได้ตามความเหมาะสมและความพร้อม โดยรูปแบบของการดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ คำแนะนำของทางราชการ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ภายใต้การกำกับดูแลของ อว. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข

1.4 พื้นที่เฝ้าระวัง สามารถใช้อาคารหรือสถานที่ของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งการสอบ การฝึกอบรมหรือกิจกรรมใดๆ ได้เมื่อมีความพร้อม โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เงื่อนไขการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ คำแนะนำของทางราชการ รวมทั้งกฎหมาย กฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ขอให้สถาบันอุดมศึกษาให้ข้อมูลแก่นิสิต นักศึกษาและบุคลากรให้ตระหนักถึงสถานการณ์

การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (COVID-19) และกำชับการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของตนเองและครอบครัวที่เป็นไปตามมาตรการควบคุมหลักในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (ศบค.) และมาตรการแต่ละพื้นที่ด้วย

2.การจัดกิจกรรมของสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานภายใน อว.

2.1 พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวน

รวมกันมากกว่า 20 คน เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นสถานกักกันโรค

2.2 พื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 100 คน

2.3 พื้นที่ควบคุม ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 150 คน

2.4 พื้นที่เฝ้าระวังสูง ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มี จำนวนรวมกันมากกว่า 200 คน

2.5 พื้นที่เฝ้าระวัง ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกัน มากกว่า 300 คน

ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ซึ่งผู้ว่าราชการ

กรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรมและสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ

3.มาตรการสำหรับการปฏิบัติงานของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานภายใน อว.

ให้พิจารณาขยายการดำเนินมาตรการการทำงานที่บ้าน ( Work from Home) หรือ ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง โดยให้พิจารณาดำเนินการขั้นสูงสุดในช่วงระยะเวลานี้ โดยเฉพาะหน่วยงานในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อลดการเดินทางและการติดต่อสัมผัสระหว่างบุคคล ซึ่งเป็นการป้องกันและลดโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ทั้งนี้ให้พิจารณาระดับความเสี่ยงและบริบทของพื้นที่ตามข้อกำหนด เพื่อกำหนดสัดส่วนการทำงานที่บ้าน (Work from Home) หรือปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง หรือการสลับวันหรือการเหลื่อมเวลาการเข้าปฏิบัติงานตามความเหมาะสมของพื้นที่

4.มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ขอความร่วมมือให้สถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานภายใน อว.พิจารณาดำเนินการ ดังนี้

4.1 ลดค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของสถาบันอุดมศึกษาที่เรียกเก็บจากนิสิต นักศึกษา เป็นกรณีพิเศษ

4.2ลดค่าเช่าพื้นที่แก่ผู้ประกอบการรายย่อย หรือลดค่าบริการต่าง ๆ ที่เรียกเก็บจากประชาชนตามความเหมาะสม

4.3 กำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว เพิ่มเติมตามความเหมาะสม

5.การเดินทางข้ามจังหวัดหรือพื้นที่สถานการณ์ตามข้อกำหนด ให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็น ซึ่งต้องคำนึงถึงโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และควรหลีกเลี่ยงการเดินทางเป็นกลุ่มใหญ่

6. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้สถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานภายใน อว.ให้ข้อมูลที่ถูกต้องให้กับประชาชนในทุกกลุ่ม เพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อสนับสนุนการบริหารสถานการณ์ของประเทศตามมาตรการเร่งด่วนของรัฐบาลที่สนับสนุนให้ประชาชนได้รับการฉีดวัคนป้องกันโรคดังกล่าว โดยเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ตามนโยบาย

7. การดำเนินงานของโรงพยาบาลของสถาบันอุดมศึกษา และโรงพยาบาลสนามที่ อว. รับผิดชอบ ให้ความสำคัญในการประสานและเชื่อมโยงการทำงานกับกลไกในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม ตลอดจนการจัดกิจกรรมจิตอาสาเข้าไปร่วมปฏิบัติงานตามภารกิจที่เหมาะสมให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามมาตรการควบคุมหลักในการป้องกันการแพร่ระบาดของ

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามที่ ศบค. กระทรวงสาธารณสุข และ อว. กำหนดอย่างเคร่งครัดกรณีมีเหตุการณ์ผิดปกติให้รายงานศูนย์ปฏิบัติการและบริหารสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของกระทรวง อว. (ศปก.อ.) ทราบโดยด่วน เพื่อร่วมกันควบคุมสถานการณ์ โดยขอให้รายงานข้อมูลในระบบกลุ่มไลน์ที่กำหนด หรือประสานแจ้งข้อมูลได้ที่ ศปก.อว. โทร 02 6105266 หรือ 026105280 โทรสาร 02 354 55246

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป