ยกระดับอาชีวเกษตร ดันไทยเป็นผู้นำในตลาดอาหารฮาลาลโลก

กัลยา โสภณพนิช

อาชีวศึกษา จับมือศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ และ กอท. พัฒนาหลักสูตรบริหารจัดการผลิตสินค้า-บริการฮาลาล หวังยกระดับอาชีวเกษตร ดันไทยเป็นผู้นำในตลาดอาหารฮาลาลโลก

วันที่ 29 มีนาคม 2565 ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในการส่งเสริมและพัฒนารายวิชาและหลักสูตรการเรียนการสอนที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการการผลิตสินค้าและบริการฮาลาล ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (กอท.) ว่า

กระทรวงศึกษาธิการมีความยินดีที่จะสนับสนุน พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับนักเรียน นักศึกษาอาชีวเกษตร โดยเฉพาะการพัฒนาหลักสูตรเพื่อยกระดับการผลิตสินค้าเกษตร และอาหารเข้าสู่ระบบมาตรฐานของตลาดโลก อย่างมาตรฐานฮาลาล ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับทั้งในเชิงคุณภาพและความปลอดภัยจากผู้บริโภคทั่วโลกเป็นอย่างดี เห็นได้จากการขยายตัวของเศรษฐกิจฮาลาลอย่างต่อเนื่อง ทั้งสินค้ากลุ่มอาหาร และกลุ่มที่มิใช่อาหาร เช่น เครื่องสำอางและการบริการ เป็นต้น

“สินค้าเกษตรเป็นสินค้าที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของการบริโภคภายในประเทศ และการส่งออกที่มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การจัดระบบการบริหารจัดการกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรเหล่านี้ให้เป็นไปตามมาตรฐานฮาลาล หรือการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการเพิ่มมูลค่าสินค้าหรือลดต้นทุนการผลิตจะสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและ
สร้างรายได้ให้กับประเทศเพิ่มขึ้น”

Advertisment

ดร.คุณหญิงกัลยากล่าวต่อว่า การพัฒนาอาชีวศึกษาให้มีความก้าวไกลจะเป็นอีกคำตอบหนึ่งของการพัฒนาประเทศ เพราะกำลังคนอาชีวศึกษาถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญ ทั้งในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม รวมถึงในภาคธุรกิจบริการ ดังนั้นอาชีวศึกษาจึงต้องเร่งสร้างขีดความสามารถในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีทักษะที่จำเป็น เพื่อให้มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงาน หรือองค์กรวิชาชีพ ที่มีความเชี่ยวชาญ เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างคนที่มีคุณภาพ ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนจึงเป็นกลไกสำคัญที่จะนำพาให้การจัดการอาชีวศึกษาบรรลุสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จได้ในอนาคต

ทั้งนี้ ดร.คุณหญิงกัลยากล่าวอีกว่า ความร่วมมือครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของทั้ง 3 หน่วยงาน ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเข้ามาร่วมมีบทบาทในการพัฒนาให้ตัวผู้เรียน ได้มีความรู้และความเข้าใจในการบริหารจัดการ การผลิตสินค้าและบริการ ตามมาตรฐานฮาลาล ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกำลังหลักในการพัฒนาประเทศทั้งในด้านการศึกษา และเศรษฐกิจ และเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาสินค้า และบริการตามมาตรฐานฮาลาลของไทย ให้ก้าวไปสู่ระดับสากล และจะนำไปสู่การเป็นผู้นำในตลาดอาหารฮาลาลโลก

Advertisment

ด้านนายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ตกลงทำความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนารายวิชาหรือหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการผลิตสินค้าและบริการฮาลาล

โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากงานวิจัย เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจในการบริหาร การจัดการ และการควบคุมการผลิตตามมาตรฐานฮาลาล สามารถบูรณาการเข้ากับวิชาชีพ สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันหรือเป็นที่ต้องการของสถานประกอบการและตลาดแรงงาน