เขื่อนหลักยังรับน้ำได้อีกมาก พ้น ก.ย. EI Nino มา “ฝนน้อย-น้ำน้อย”-

แม้จะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนได้เพียง 3 เดือน สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของประเทศบางแห่งกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตจากภาวะฝนตกหนักในพื้นที่มีปริมาณมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันตก-ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ที่ได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมพาดผ่านและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ โดยยังเหลือระยะเวลาอีก 3 เดือนกว่าจะพ้นช่วงฤดูฝนของปีนี้ อย่างไรก็ตาม จากแบบจำลองอุณหภูมิผิวทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกล่าสุด IRI/CPC Pacific Nino 3.4 SST Model ของ NOAA บ่งชี้ว่า อุณหภูมิของผิวทะเลมหาสมุทรแปซิฟิกมีค่า “สูงกว่า” ค่าปกติเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงมีโอกาสถึง 65% ที่จะเกิดภาวะ EI Nino หรือฝนน้อย-น้ำน้อย ในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2561 และมีโอกาสถึง 70% ที่จะเกิดภาวะ EI Nino ในช่วงเดือนธันวาคม 2561-กุมภาพันธ์ 2562 นั่นหมายความว่า ภาวะฝนตกหนักในประเทศไทยต่อจากเดือนสิงหาคมจะลดน้อยลง ซึ่งจะส่งผลต่อการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนอย่างมีนัยสำคัญ

“ภูมิพล-สิริกิติ์” ยังรับน้ำได้อีกมาก

ฝ่ายประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน ได้รายงานสถานการณ์น้ำ ณ วันที่ 7 สิงหาคม 2561 ปรากฏสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของประเทศมีปริมาตรน้ำ 52,682 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 69 มากกว่าปี 2560 จำนวน 4,298 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 361.91 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย 237.17 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรับน้ำได้อีก 21,309 ล้าน ลบ.ม. โดยสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง (ภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยฯ-ป่าสักชลสิทธิ์) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 ฝั่ง รวมถึงกรุงเทพมหานคร มีปริมาตรน้ำรวม 14,591 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นความจุอ่างร้อยละ 59 ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 89.99 ล้าน ลบ.ม. น้ำระบาย 74.03 ล้าน ลบ.ม. ยังรับน้ำได้อีก 10,310 ล้าน ลบ.ม.

ในอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่ง เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาตรน้ำ 6,369 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 67 ของความจุอ่าง และยังมีน้ำไหลเข้าอ่างอย่างต่อเนื่อง (38.94 ล้าน ลบ.ม.) ส่งผลให้ต้องระบายน้ำออกในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำเกินกว่าร้อยละ 100 ไปแล้ว ได้แก่ น้ำอูน (534 ล้าน ลบ.ม.-103%) กับแก่งกระจาน (725 ล้าน ลบ.ม.-102%) จำเป็นต้องเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อน ส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนเกิดภาวะน้ำท่วมหนัก ขณะที่เขื่อนศรีนครินทร์ (15,423 ล้าน ลบ.ม.-87%) กับ เขื่อนวชิราลงกรณ (7,495 ล้าน ลบ.ม.-85%) มีปริมาตรน้ำเกินกว่าร้อยละ 80 ทำให้ต้องเร่งพร่องน้ำไม่ให้เกินกว่าเกณฑ์รับน้ำสูงสุดที่กำหนดไว้

ไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554

นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จํากัด หรือ “TEAM GROUP” ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการจัดการน้ำของประเทศ กล่าวว่า แม้สถานการณ์ค่อนข้างน่ากังวลในเขื่อนแก่งกระจาน-น้ำอูน ที่จะเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ท้ายเขื่อนจากน้ำล้น แต่สภาพน้ำโดยรวมของภาคกลาง “ยังไม่น่าเป็นห่วง” เนื่องจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล+สิริกิติ์ มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างทั้งสองแค่ครึ่งเดียวของความจุอ่าง (14,080 ล้าน ลบ.ม. หรือ 61%) ยังสามารถรับน้ำได้อีกถึง 8,892 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมีปริมาตรเพียงพอในช่วงฤดูฝนที่เหลือนี้

“น้ำเข้าไปแค่ครึ่งอ่างเอง ยังมีพื้นที่ว่างในอ่างอีกมาก ไม่ต้องกังวลว่าน้ำจะท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 ซึ่งในปีนั้นเพียงแค่ 7 วัน มีพายุเข้ามาตั้ง 3-4 ลูก แต่ปีนี้หน้าฝนจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ พฤษภาคม-กรกฎาคม มีฝนตกมาก กระจายไปทั่ว แต่พอขึ้นช่วงที่ 2 หลังวันแม่เดือนสิงหาคม ฝนก็จะน้อยลง ประกอบกับแบบจำลองของ NOAA ได้บ่งชี้ว่า ตั้งแต่กันยายนปีนี้ถึงกุมภาพันธ์ปีหน้าจะเกิดภาวะ EI Nino ซึ่งหมายถึง ฝนน้อย น้ำน้อย แม้จะมีพายุเข้ามา ปริมาณน้ำฝนก็จะน้อยลง ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำในประเทศควรจะต้องถนอมน้ำไว้เกินร้อยละ 80 ก็ให้พร่องน้ำลง แต่ถ้าอ่างเก็บน้ำไหนมีน้ำอยู่ในระดับ 20-30% ของความจุอ่างก็ควรจะต้องเร่งเก็บน้ำให้เต็ม (80%) ในช่วงฤดูฝนที่สองนี้” นายชวลิตกล่าว

“น้ำอูน-แก่งกระจาน” ท่วมหนัก

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเกินกว่า 100% ไปแล้วอย่าง เขื่อนแก่งกระจาน กับเขื่อนน้ำอูน เกิดจากน้ำฝนที่ตกลงเหนือเขื่อนมีปริมาณมาก ในช่วงแถบตะนาวศรีตั้งแต่แม่สอดลงมาจนถึงกระบี่ จนต้องเร่งระบายน้ำที่ล้นออก ในภาวะเช่นนี้จะเกิดน้ำท่วมท้ายเขื่อนบริเวณ อ.แก่งกระจาน-ท่ายาง-เพชรบุรี-บ้านแหลม ระดับน้ำที่ลุ่มต่ำประมาณ 50 ซม.ขึ้นไป ส่วนบริเวณเขื่อนน้ำอูนจะเกิดน้ำท่วม อ.พังโคน-วานรนิวาส-ศรีสงคราม-อากาศอำนวย-ท่าอุเทน-ธาตุพนม-นครพนม-สกลนคร ระดับน้ำจะลดลงเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่กับการเร่งระบายน้ำลงทะเล กับแม่น้ำโขง

ส่วนความกังวลเรื่องของความมั่นคงของเขื่อนในประเทศ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีมาตรการดูแล ตรวจสอบและบำรุงรักษาเขื่อนตามมาตรฐานสากลขององค์การเขื่อนใหญ่ระหว่างชาติ (International Commission on Large Dams หรือ ICOLD) เป็นประจำและสม่ำเสมอ เจ้าหน้าที่ประจำเขื่อนทำการตรวจสอบจุดสำคัญ (ตัวเขื่อน-ลาดเขื่อน-ตีนเขื่อน) เป็นประจำทุกสัปดาห์ พร้อมรายงานการตรวจสอบเข้ามาทุกเดือน มีระบบติดตั้งตรวจเขื่อนแบบอัตโนมัติเพื่อตรวจการทรุดตัว-เคลื่อนตัว-แรงดันน้ำในเขื่อน-น้ำรั่ว โดยระบบจะแจ้งเตือนความผิดปกติทันที และยังมีคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยของเขื่อน (กปข.) ยืนยันผลการตรวจสอบทุก 2 ปี เขื่อนทุกเขื่อนในประเทศยังมีความมั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย สามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ของการก่อสร้าง

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”