รัฐโหมมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ สกัด NPL “ครัวเรือน-SMEs” พุ่ง

หนี้ครัวเรือน

หน่วยงานภาครัฐโหมแก้หนี้ ธปท.ปรับเกณฑ์คลินิกแก้หนี้ขยายครอบคลุมลูกหนี้เป็นหนี้เสียก่อน 1 ก.ย. 65 ขณะที่ บสย.ดึงลูกหนี้เอสเอ็มอีเฉียด 1 หมื่นราย ไกล่เกลี่ยหนี้ ในงาน “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน และหนี้ SMEs” ที่เมืองทอง ฟาก กยศ.เดินหน้าไกล่เกลี่ยหนี้ต่อเนื่อง

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการคลินิกแก้หนี้ (กคน.) ได้ปรับปรุงเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ในโครงการคลินิกแก้หนี้ 2 เรื่อง ได้แก่

1.ปรับเกณฑ์คุณสมบัติการสมัครเข้าร่วมโครงการให้ครอบคลุมลูกหนี้ที่มีสถานะเป็นหนี้เสีย จากเดิมก่อนวันที่ 1 เม.ย. 2565 เป็นก่อนวันที่ 1 ก.ย. 2565 เพื่อรองรับหนี้เสียรายใหม่ให้สามารถเข้าร่วมโครงการได้ 2.ปรับทางเลือกการปรับโครงสร้างหนี้ จากเดิมที่มีเพียงทางเลือกเดียว เป็น 3 ทางเลือก

ประกอบด้วย 1) ผ่อนชำระไม่เกิน 4 ปี อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี 2) ผ่อนชำระนานกว่า 4 ปี ไม่เกิน 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี 3) ผ่อนชำระนานกว่า 7 ปี ไม่เกิน 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี ทั้งนี้ ให้มีผลสำหรับหนี้ใหม่ที่เริ่มผ่อนชำระในโครงการตั้งแต่วันที่ 8 ก.ย. 2565 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของโครงการคลินิกแก้หนี้ สะสมจนถึงสิ้นเดือน ส.ค. 2565 มีลูกหนี้เข้าโครงการ 30,137 ราย รวม 90,539 บัญชี ภาระหนี้เงินต้นตามสัญญา 6,849 ล้านบาท

โดยเฉลี่ยลูกหนี้ 1 ราย มีเจ้าหนี้ในโครงการ 2 ราย เงินต้นคงเหลือตามสัญญา 232,844 บาท ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เข้าโครงการในช่วงสถานการณ์โควิด-19 คือ ปี 2563 ถึงปัจจุบัน จำนวน 26,943 ราย 78,744 บัญชี

“สัปดาห์ที่ผ่านมา ธปท.ยังได้ร่วมกับกระทรวงการคลังแถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ซึ่งครอบคลุมหนี้ประเภทต่าง ๆ จากเจ้าหนี้เอกชนและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมประมาณ 60 แห่ง มีกำหนดจะเริ่มเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนออนไลน์เป็นเวลาประมาณ 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 2565

มุ่งช่วยลูกหนี้ที่ประสบปัญหาการชำระหนี้ รายได้ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 และยังไม่ได้รับความช่วยเหลือที่ผ่านมา จึงขอให้ประชาชนที่เข้าข่ายโปรดติดตามข่าวและเตรียมตัวลงทะเบียนต่อไป”

ขณะที่นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย. ร่วมสนับสนุนงาน “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน และหนี้ SMEs” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 -11 ก.ย. 2565

เป็นโครงการที่ช่วยปลดล็อกภาระหนี้ทั้งในภาคประชาชนและผู้ประกอบการ SMEs โดยการไกล่เกลี่ยให้กับทั้งผู้ที่ยังไม่ถูกฟ้องและหลังศาลพิพากษา ให้ได้รับความช่วยเหลือเพื่อหาทางออกร่วมกัน

“ภายในงาน บสย.ได้เชิญผู้ประกอบการ SMEs ลูกหนี้ กลุ่มที่มียอดหนี้ค้างชำระไม่เกิน 5 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.กลุ่มลูกหนี้ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง จำนวน 9,575 ราย และ 2.กลุ่มลูกหนี้ไกล่เกลี่ยหลังศาลพิพากษา จำนวน 100 ราย เข้าร่วมเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้”

ฟากนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า กองทุนได้ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม จัดงานไกล่เกลี่ยหนี้

เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้กู้ยืมเงินที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ผู้กู้ยืมเงินบางส่วนขาดรายได้ และผิดนัดชำระหนี้ จนนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีหรือถูกบังคับคดีตามกฎหมาย