แบงก์ตะลุมบอน “อีคอมเมิร์ซ” ดึงลูกค้าซื้อขายออนไลน์ครบวงจร !

ธปท.ไฟเขียวธนาคารพาณิชย์ เปิด “อีมาร์เก็ตเพลส” ซื้อขายออนไลน์ครบวงจร “เคแบงก์” ปักธงเปิด “ตลาดนัดออนไลน์” เดือนมี.ค.นี้ ชูฐานลูกค้าที่เป็นผู้ซื้อบนแอปฯ 8 ล้านราย หลังทดลองให้บริการปีที่แล้ว “เอสซีบี” ชี้เปิดประตูให้แบงก์ทำธุรกิจหลากหลาย ประเดิมขายตั๋วหนัง-คอนเสิร์ต “ภาวุธ” ชี้แบงก์เขย่าสมรภูมิอีคอมเมิร์ซ ท้าชนยักษ์จีน

ไฟเขียวแบงก์ลุยอีคอมเมิร์ซ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ได้ลงนามประกาศหนังสือเวียนถึงธนาคารพาณิชย์ เมื่อ16 มกราคม 2561 เรื่องอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคาร สามารถให้บริการแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ (e-Marketplace Platform) เพื่อเป็นสื่อกลางในการซื้อขายสินค้า (ทุกประเภทที่ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือผิดศีลธรรม) และบริการ ของลูกค้า ผ่านแพลตฟอร์มเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือของธนาคาร โดยถือเป็นธุรกิจเทคโนโลยีการเงิน (ฟินเทค) ที่มีลักษณะเป็นการให้บริการเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ

โดย ธปท.อนุญาตเป็นการทั่วไปให้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทธุรกิจการเงินของธนาคาร สามารถให้บริการ e-Marketplace Platform เป็นช่องทางในการซื้อขายสินค้าและบริการ ชำระเงินออนไลน์แบบครบวงจร รวมถึงให้ข้อมูล ข่าวสาร การอบรมเพื่อพัฒนาธุรกิจออนไลน์และการสร้างเครือข่าย เช่นการซื้อขายสินค้าและบริการที่เชื่อมต่อกับเว็บไซต์อื่น ที่เป็นผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ หรือร้านค้าออนไลน์ เป็นต้น

พร้อมทั้งสามารถทำการตลาด และจัดโปรโมชั่นร่วมกับผู้ขายสินค้าหรือบริการ เพื่อให้ลูกค้าของธนาคารเข้ามาใช้บริการบนแพลตฟอร์มดังกล่าวได้ รวมทั้งสามารถนำข้อมูลธุรกรรมบนแพลตฟอร์มมาประมวลผลและวิเคราะห์ (Big data) เพื่อการพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริหารทางการเงินของธนาคารโดยคำนึงถึงการรักษาข้อมูลความลับลูกค้าเป็นสำคัญ

ตีกรอบห้าม “ผลิต-ซื้อ” สินค้า

ขณะเดียวกันประกาศของ ธปท.ได้มีข้อห้ามธนาคารพาณิชย์ หรือธุรกิจการเงินของธนาคาร ทำการผลิตสินค้าหรือให้บริการ รวมถึงห้ามการซื้อและจัดเก็บสินค้าหรือบริการไว้เพื่อการค้า ยกเว้น สินค้าหรือบริการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนโครงการรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) นอกจากนี้ยังห้ามให้ธนาคารหรือธุรกิจการเงิน แสดงเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ใด ๆ บนสินค้า ที่ซื้อขายบนอีมาร์เก็ตเพลสของธนาคาร ซึ่งอาจนำไปสู่การเข้าใจผิดได้ว่า สินค้าหรือบริการดังล่าวเป็นของธนาคาร

อย่างไรก็ตามธนาคารสามารถจัดให้มีผู้ให้บริการอื่นที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน เพื่อสนับสนุนแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลสของธนาคาร เช่นงานด้านแพ็กเกจกิ้ง, โลจิสติกส์, บริการสินค้าคงคลัง เป็นต้น

รวมทั้งธนาคารต้องมีระบบการคัดกรองคุณสมบัติและคุณภาพผู้ขายสินค้าหรือบริการ โดยมีการตรวจสอบและป้องกันการวางขายสินค้าหรือบริการที่ขัดต่อกฎหมาย หรือผิดศีลธรรม หรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียต่อวัฒนธรรมของชาติ

โดย ธปท.คาดหวังว่า การเปิดกว้างให้ธนาคารพาณิชย์และธุรกิจการเงินของธนาคารสามารถทำตลาด e-Marketplace จะต้องให้บริการแก่ลูกค้าได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อย และกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อย (SMEs) เพื่อเป็นช่องทางการซื้อขายสินค้าหรือบริการก่อนที่ธนาคารหรือธุรกิจการเงิน

คุมเสี่ยงแจ้งข้อมูลทุก 3 เดือน

นอกจากนี้ประกาศ ธปท.ได้มีข้อกำหนดแนวทางการบริหารความเสี่ยงการให้บริการแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลสของธนาคาร เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นและอาจกระทบต่อผู้บริโภคหรือชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งเสถียรภาพของระบบการเงิน อาทิ นโยบายการให้บริการอีมาร์เก็ตเพลส และนโยบายบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของธนาคาร หรือธนาคารต้องประเมินศักยภาพและความเพียงพอของทรัพยากรด้านบุคลากร และระบบการให้บริการเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายหรือเป็นอุปสรรค ต่อการดำเนินงานและการให้บริการทางการเงินของธนาคาร รวมถึงมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมาะสม เป็นต้น

สุดท้าย ก่อนธนาคารพาณิชย์และบริษัทธุรกิจการเงินของธนาคาร จะให้บริการตามแพลตฟอร์มนี้ จะต้องรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการให้บริการแพลตฟอร์มนี้

ให้ ธปท.รับทราบล่วงหน้าก่อนไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนให้บริการ และเมื่อเปิดให้บริการต้องมีการรายงานข้อมูลค่าการให้บริการแก่ลูกค้า และปัญหาการร้องเรียนที่เกิดขึ้นจากการให้บริการให้กับ ธปท.รับทราบเป็นรายไตรมาส

กสิกรลุยเปิดบริการกลาง มี.ค.

นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทย พร้อมให้บริการอีมาร์เก็ตเพลสเต็มรูปแบบกลางเดือน มี.ค.นี้ โดยธนาคารมีความแข็งแกร่งฐานลูกค้ารายย่อยกว่า 14 ล้านราย ซึ่งเป็นลูกค้าที่ใช้แอปฯ K PLUS กว่า 8 ล้านราย รวมทั้งฐานลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการกว่า 1.5 ล้านราย และเป็นร้านค้าออนไลน์กว่า 200,000 ราย ซึ่งมีการรับเงินโอนจากการซื้อขายของกว่า 100,000 ล้านบาทต่อเดือน

การใช้เทคโนโลยีแมชชีนคอมเมิร์ซ ทำให้ธนาคารสามารถสร้างเครือข่ายตลาดนัดออนไลน์ขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงผู้ซื้อและผู้ขาย ทำให้ร้านค้าที่ใช้บริการ K PLUS SHOP ของธนาคารได้พบกับลูกค้ารายย่อยที่ใช้งาน K PLUS กว่า 8 ล้านราย และจะเพิ่มเป็น 10 ล้านรายในสิ้นปีนี้

โดยลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าผ่านสมาร์ทโฟนได้ด้วยการกดไปที่เมนู Reward PLUS ภายในจะมีรายชื่อร้านค้าครอบคลุมตามไลฟ์สไตล์ของลูกค้า ได้แก่ สินค้าเกษตรกรจากโครงการ

พรวนฝัน สินค้าจากผู้ประกอบการรายย่อยและกิจการรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงสินค้าจากพันธมิตรทางธุรกิจของธนาคาร ธนาคารตั้งเป้าหมายจัดส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้ากว่า 30 ล้านรายการในปี 2561

เจรจาจับมือพันธมิตร

นายสมคิด จิรานันตรัตน์ ประธาน กสิกร บิซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้เมื่อ ธปท.เปิดช่องให้ธนาคารเป็นตัวกลางเรื่องนี้ ก็ต้องมีการทำมาร์เก็ตติ้งเต็มที่ โดยจะมีทีมงานทั้งจากฝั่งรายย่อยและเอสเอ็มอีมาทำงานร่วมกัน สำหรับสินค้าที่จะนำมาขายบนแพลตฟอร์มของธนาคารจะเป็นสินค้าที่คนนิยม เช่น เครื่องสำอาง เสื้อผ้า แก็ดเจต รวมถึงสินค้าเกษตรต่าง ๆ

นอกจากนี้ธนาคารมีการเจรจาความร่วมมือเป็นพันธมิตรกับมาร์เก็ตเพลสเจ้าอื่น ๆ โดยจะมีระบบเชื่อมต่อ API (application programming interface) ซึ่งธนาคารยังต้องมีกระบวนการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ หรือบริการมาใช้ในแพลตฟอร์มของธนาคาร เพื่อเพิ่มความสะดวกให้ผู้บริโภค

SCB ขายตั๋วหนัง-คอนเสิร์ต

นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Marketing Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างการศึกษาขอบเขตและแนวทางการให้บริการแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลสของ ธปท. โดยต้องมีการศึกษาทั้งขอบเขตด้านกฎหมาย ฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องและนโยบายของธนาคาร

“ล่าสุดธนาคารเตรียมขออนุญาตให้บริการใหม่ที่เกี่ยวข้องกับอีมาร์เก็ตเพลส ในการให้บริการขายตั๋วภาพยนตร์บนแอปพลิเคชั่นโมบายแบงกิ้ง SCB Easy ง่ายขึ้น จากเดิมที่ต้องเปิดแอปฯหรือเว็บของโรงหนังแล้วถึงโยงมาจ่ายเงินที่แอปฯของธนาคาร อนาคตสามารถกด SCB Easy และออก E-coupon เพื่อใช้ดูหนังได้เลย และอนาคตไม่ใช่แค่ตั๋วหนัง จะมีตั๋วคอนเสิรต์ต่าง ๆ ที่ไทยพาณิชย์สามารถทำหน้าที่กระเป๋าเงินหรือตัวกลางได้” นายธนากล่าว

นายธนากล่าวว่า การให้ธนาคารทำอีมาร์เก็ตเพลสได้เชื่อว่า เป็นการเปิดประตูให้ธนาคารได้ทำธุรกิจอีกมหาศาล เพราะทำให้ธนาคารมีข้อมูลการทำธุรกรรมต่าง ๆ ของลูกค้า ดังนั้นหากธนาคารเห็นทรานเซ็กชั่น ก็สามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาต่อยอดสู่การนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือการให้สินเชื่อกับลูกค้าได้ในอนาคต

ด้านนางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางธนาคารกรุงเทพเป็นพันธมิตรกับกรมการค้าภายใน โดยสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มช่องทางการขายสินค้าบนเว็บไซต์ Thaitrade.com ซึ่งธนาคารจะมีทีมงานเฉพาะเพื่อให้คำแนะนำลูกค้าเพื่อเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม หลัง ธปท.ออกเกณฑ์อีมาร์เก็ตเพลส ทางธนาคารจะวางแผนเพื่อพัฒนาบริการใหม่ ๆ ในอนาคต

แบงก์เขย่าตลาดท้าชนยักษ์จีน

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่ธนาคารขยับให้บริการอีมาร์เก็ตเพลส น่าจะกระตุ้นตลาดอีคอมเมิร์ซให้เติบโตได้มาก และทำให้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซและอีมาร์เก็ตเพลสรายย่อยต้องปรับตัวอย่างมาก และเผชิญกับความท้าทายที่หนักขึ้น จากเดิมที่ต้องสู้กับอีคอมเมิร์ซรายใหญ่จากจีนอย่างดุเดือดอยู่แล้ว แต่ในแง่ของธนาคารถือว่ามีความได้เปรียบ เนื่องจากมีลูกค้าในมืออยู่มาก

“เมื่อแบงก์ขยับมาได้อีกนิด ก็จะได้เปรียบมากขึ้น เพราะถ้าไม่เปิดบริการ แบงก์เองก็จะอันตราย การอนุญาตครั้งนี้จะทำให้แบงก์ไทยกลายเป็นผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์ที่วิ่งชนกับยักษ์จากจีน ไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการสัญชาติไทยก็จะไม่เหลือ”

อย่างไรก็ตามในการตลาดออนไลน์ แบงก์จำเป็นต้องมีการออกแบบโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้า เนื่องจากผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ในไทยยังเสพติดส่วนลด ฉะนั้นต้องออกแบบลูกเล่นต่าง ๆ เชื่อว่าจะต้องมีโปรโมชั่นบ้าง แต่คงไม่กระหน่ำรุนแรงเท่ากับยักษ์ใหญ่จากจีน น่าจะเป็นการผสมกันกับบริการเพย์เมนต์ของธนาคาร อย่างการผ่อนสินค้า 0% อาจจะเห็นได้ง่าย ๆ ฉะนั้นปีนี้เป็นปีที่ผู้ประกอบการทุกรายต้องปรับตัวหนักมาก

กระตุ้นตลาดอีคอมเมิร์ซคึกคัก

นายณัฐวิทย์ ผลวัฒนสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอลเอ็นดับเบิ้ลยูช็อป จำกัด ผู้ให้บริการออนไลน์ “เทพช้อป” กล่าวว่า การเปิดให้บริการอีมาร์เก็ตเพลสของธนาคาร เป็นการสร้างช่องทางใหม่ให้กับผู้ค้าออนไลน์มีช่องทางค้าขายมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซคึกคักขึ้น และเป็นผลดีกับเทพช้อปเพราะนอกจากบริษัทจะมีอีมาร์เก็ตเพลสอย่าง “เทพมอลล์” ของตัวเองแล้ว ยังให้บริการระบบหลังบ้านจัดการสินค้าและร้านค้าออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ค้าออนไลน์


อย่างไรก็ตามมองว่าการขยายตลาดของสถาบันการเงินเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริการอีเพย์เมนต์ของธนาคาร ไม่น่าจะมีเป้าหมายเพื่อขยายธุรกิจไปสู่อีคอมเมิร์ซอย่างจริงจัง เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ให้บริการรายใหญ่จากต่างประเทศครองตลาดอยู่