ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำกว่าที่คาด

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำกว่าที่คาด ส่วนเงินเฟ้อคาดแตะระดับ 4.6% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ขณะที่ปัจจัยในประเทศโฆษกรัฐบาลระบุ ไม่พบสัญญาณการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ผิดปกติ และระดับเงินสำรองฯ เมื่อเทียบต่อ GDP ยังสูงกว่าหลายประเทศ อยู่อันดับที่ 12 ของโลก

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 19 กันยายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/9) ที่ระดับ 36.86/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/9) ที่ระดับ 36.92/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 59.5 ในเดือน ก.ย. จากระดับ 58.6 ในเดือน ส.ค. แต่ต่ำกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 60.0

ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 4.6% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า โดยต่ำกว่าระดับ 4.8% ที่มีการสำรวจในเดือนที่แล้ว และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564 สำหรับในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 2.8% โดยต่ำกว่าระดับ 2.9% ที่มีการสำรวจในเดือนที่แล้ว และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2564

สำหรับปัจจัยในประเทศ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรับมนตรี เปิดเผยถึงกรณีมูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศของประเทศปรับลดลง เป็นผลมาจากการแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ พร้อมเน้นย้ำไม่พบสัญญาณการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ผิดปกติ และระดับเงินสำรองฯ เมื่อเทียบต่อ GDP ยังสูงกว่าหลายประเทศ

ทั้งนี้ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศที่ปรับลดลงจาก 2.78 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงต้นปี มาอยู่ที่ระดับ 2.4 แสนล้านดอลลาร์ เป็นผลมาจากการตีมูลค่าเงินสำรองฯที่อยู่ในสินทรัพย์หลายสกุลเงินให้เป็นสกุลดอลลาร์ โดยเงินสกุลดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ทำให้สินทรัพย์สกุลอื่น ๆ เมื่อตีมูลค่าเป็นรูปดอลลาร์มีมูลค่าลดลง ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินผันผวนสูงขึ้นจากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง และเป็นเหตุการณ์ปกติในช่วงที่ค่าเงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนสูง มูลค่าเงินสำรองก็จะผันผวนสูงขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังยืนยันว่าไม่พบสัญญาณการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่ผิดปกติ และประเทศไทยยังมีฐานะทางการเงินที่ดี จากระดับเงินสำรองฯที่อยู่ประมาณ 2.4 แสนล้านดอลลาร์ ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีเงินสำรองฯมากที่สุดเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และเมื่อเทียบเงินสำรองฯ ต่อ GDP จะคิดเป็น 48% ของ GDP ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 6 ของโลก รวมถึงยังสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นของไทยถึงเกือบ 3 เท่า ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 36.77-37.04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 36.97/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/9) ที่ระดับ 1.0007/09 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/9) ที่ระดับ 0.9977/79 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า การดำเนินการของ ECB อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ ECB จะให้ความสำคัญสูงสุดต่อการรักษาเสถียรภาพของราคา

นางลาการ์ดระบุว่า ในการกำหนดนโยบายการเงิน ECB จะต้องพิจารณาทุกองค์ประกอบที่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ รวมทั้งความเสี่ยงที่จะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9967-1.0029 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 0.9971/73 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (19/9) ที่ระดับ 143.03/05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/9) ที่ระดับ 143.30/32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 142.65-143.54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 143.47/49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือน ก.ย. จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (19/9), ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือน ส.ค. (20/9), ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย (21/9), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (22/9), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน ก.ย.จากเอสแอนด์พี โกลบอล (23/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7.75/-7.35 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -10/-8.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ