ดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง นักวิเคราะห์คาดดัชนี CPI บ่งชี้เงินเฟ้อยังคงร้อนแรง

dollar
REUTERS/Dado Ruvic/File Photo

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าต่อเนื่อง หลังนักวิเคราะห์คาดดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) บ่งชี้เงินเฟ้อยังคงร้อนแรงในเดือน ก.ย. ขณะที่ ธปท.ทำจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.คลัง ชี้แจงเงินเฟ้อสูงกว่ากรอบเป้าหมาย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 11 ตุลาคม 2565 ว่า ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/10) ที่ระดับ 37.93/95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (10/10) ที่ระดับ 37.65/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐยังคงแข็งค่า หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคในวันพฤหัสบดีนี้ ผลการสำรวจพบว่า ดัชนี CPI ยังคงร้ายแรงในเดือน ก.ย. โดยดีดตัวขึ้นมากกว่า 8% แม้ชะลอตัวจากเดือน ส.ค.

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 8.1% ในเดือน ก.ย. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 8.3% ในเดือน ส.ค. นอกจากนี้คาดการณ์ว่าดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานเพิ่้มขึ้น 6.5% โดยสูงกว่าระดับ 6.3% ในเดือน ส.ค.

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.คลัง ชี้แจงการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนก่อน และประมาณการ 12 เดือนข้างหน้า สูงกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน

โดยระบุว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และ รมว.คลัง มีข้อตกลงร่วมกัน เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 กำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในช่วง 1-3% เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2565

รวมถึงระบุให้ กนง.มีจดหมายเปิดผนึกหากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา หรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า เคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายนั้น โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 37.96-38.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 38.18/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/10) ที่ระดับ 0.9706/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (10/10) ที่ระดับ 0.9747/49 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า หลังสถาบันวิจัย Sentix ของเยอรมนี เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนในยูโรโซนปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 3 ในเดือน ต.ค. แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2563 และบ่งชี้คาดการณ์การเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ทั้งนี้ระหว่างวันค่ายูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9673-0.9725 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 0.9698/97 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (11/3) ที่ระดับ 145.66/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (10/9) ที่ระดับ 145.42/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ผู้นำญี่ปุ่นส่งสัญญาณสนับสนุนการเดินหน้าผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ โดยระบุว่า BOJ ควรคงนโยบายการเงินในปัจจุบันไว้จนกว่าค่าจ้างจะปรับตัวขึ้น

นายคิชิดะกล่าวถึงวาระการดำรงตำแหน่ง 10 ปีของนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือน เม.ย.ปีหน้าว่า ในขณะนี้เขายังไม่คิดที่จะร่นระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายคุโรดะ และระบุว่า “ผมจะพิจารณาการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจในเดือน เม.ย.ปีหน้า เมื่อผมต้องเลือกบุคคลที่เหมาะสมกับตำแหน่งผู้ว่าการ BOJ คนใหม่” ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 145.51-145.88 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 145.74/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน ก.ย.ของสหรัฐ (12/10), ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.ย.ของเยอรมนี (13/10), ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.ย.ของสหรัฐ (13/10), จำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (13/10), ยอดค้าปลีกเดือน ก.ย.ของสหรัฐ (14/10) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐเดือน ต.ค.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (14/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.80/1.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +2.00/+3.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ