ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในเชิงอ่อนค่า จับตาตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ

ภาพ : pixabay

ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในเชิงอ่อนค่า จับตาตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด ส่วนปัจจัยในประเทศ กนง.เผยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง ชี้การทยอยขึ้นดอกเบี้ยเป็นแนวทางที่เหมาะสม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนก.ย.เพิ่มขึ้น

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 12 ตุลาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/10) ที่ระดับ 38.16/18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่ออังคาร (11/10) ที่ระดับ 38.14/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในขณะที่นักลงทุนจับตารายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประจำเดือน ก.ย.ในวันที่ 12 ต.ค.และตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโค (CPI) ในวันที่ 13 ต.ค. เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดโดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค จะปรับตัวขึ้น 8.1% ในเดือน ก.ย. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 8.3% ในเดือน ส.ค.

นอกจากนี้ นางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาคลีฟแลนด์ระบุว่า แม้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งใหญ่ในปีนี้ แต่เฟดยังไม่สามารถควบคุมเงินเฟ้อที่พุ่งทะยานขึ้นได้ และจำเป็นต้องเดินหน้าคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไป ในขณะเดียวกัน นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐเปิดเผยว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลังดำเนินไปได้ดี ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก

โดยนางเยลเลนคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวหลังจากฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง แต่รายงานการจ้างงานล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวขึ้นอย่างมาก โดยสำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตร เพิ่มขึ้น 263,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ย. ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปลายปี 2512

Advertisment

ทั้งนี้ เงินเฟ้อแตะระดับสูงสุดที่ 6.8% ในเดือน มิ.ย. และลดระดับลงนับตั้งแต่นั้น เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบต่อเนื่องสู่ระดับ 3% และตลาดคาดว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดต่ำลงสู่เป้าหมายระยะยาวที่ระดับ 2%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ รายงาน กนง.เผย เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง ชี้การทยอยขึ้นดอกเบี้ยเป็นแนวทางที่เหมาะสม นอกจากนี้ นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) ประจำเดือน ก.ย. 65 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 26-30 ก.ย. 65 โดยดัชนีอยู่ที่ระดับ 42.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 40.0 ในเดือน ส.ค. 65

สำหรับปัจจัยบวกที่มีผลต่อดัชนีในเดือน ก.ย. ได้แก่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19, ครม.เห็นชอบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ โดยจะมีผลตั้งแต่ 1 ต.ค. 65 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ผ่อนคลายมาตรการเดินทางระหว่างประเทศ และยกเลิก Thailand Pass ส่งผลเชิงบวกต่อการท่องเที่ยว ตลอดจนภาคธุรกิจและภาคบริการต่าง ๆ

รวมทั้งการปรับลดระดับโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตราย ลงมาเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง, การส่งออกเดือน ส.ค.ขยายตัว 7.54% และราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 37.94-38.28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 38.06/09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/10) ที่ระดับ 0.9690/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่ออังคาร (11/10) ที่ระดับ 0.9697/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ในขณะที่นักลงทุนรอดูตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในช่วงปลายสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9682-0.9733 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 0.9710/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (12/10) ที่ระดับ 146.30/32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (11/10) ที่ระดับ 145.74/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 145.82-146.40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 146.40/42 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

นักลงทุนจับตารายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประจำเดือน ก.ย.ในวันที่ 12 ต.ค. และตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐในวันที่ 13 ต.ค. สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -6.75/-6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -5.5/-3.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ