คลังลุยแก้กฎหมายเครดิตบูโร เคลียร์หนี้จบพ้นแบล็กลิสต์ทันที

สันติ พร้อมพัฒน์
สันติ พร้อมพัฒน์

รมช.คลัง สั่งลุยแก้กฎหมายเครดิตบูโร ดึงน็อนแบงก์เป็นสมาชิกส่งข้อมูลให้บริษัท หนุนประเมินสินเชื่อให้ครอบคลุม พร้อมแก้กฎหมายเคลียร์หนี้จบ พ้นแบล็กลิสต์ทันที ไม่ต้องรอนานถึง 2 ปี ช่วยรายได้น้อยเข้าถึงสินเชื่อ ไม่หันไปพึ่งหนี้นอกระบบ

วันที่ 18 ตุลาคม 2565 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้หารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับข้อเสนอของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ที่อยากให้สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (น็อนแบงก์) เช่น ธุรกิจลีสซิ่ง เช่าซื้อ รวมไปถึงนาโนไฟแนนซ์ และฟิโกไฟแนนซ์ เป็นต้น สามารถเข้าไปเป็นสมาชิกที่จะส่งข้อมูลให้เครดิตบูโรได้ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการประเมินสินเชื่อให้ครอบคลุมมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ในส่วนของตนก็มีความเป็นห่วงในบางประเด็น โดยเฉพาะผลกระทบและไม่เป็นธรรมต่อประชาชนระดับกลาง และระดับล่าง ซึ่งอาจจะประสบปัญหาการกู้เงินในระบบได้ในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันในการจัดทำบัญชีรายชื่อแบล็กลิสต์ มีเงื่อนไขว่าผู้ที่เป็นหนี้เสียขาดการชำระหนี้เกิน 3 เดือน จะถูกขึ้นบัญชีดำ ทำให้ไม่สามารถไปขอกู้ในระบบได้ แม้จะมีการจ่ายหนี้ครบแล้ว ก็ยังจะไม่ถูกปลดจากบัญชีดำ และยังมีชื่อค้างอยู่ในระบบ ยังไม่สามารถยื่นขอกู้ได้นานถึง 2 ปี ดังนั้น ตนจึงเสนอให้เครดิตบูโร ต้องแก้ไขประเด็นนี้ หากใครมีการเคลียร์หนี้เก่าหมด ก็จะพ้นการถูกขึ้นบัญชีดำทันที

“ที่ผ่านมามีผู้ร้องเรียนถึงกรณีการถูกขึ้นบัญชีดำมาที่กระทรวงการคลังมากกว่า 1 ล้านราย ซึ่งที่ห่วงหากมีการกักรายชื่อไว้นานถึง 2 ปี ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่เคยเป็นหนี้เสียจะไม่สามารถไปกู้เงินในระบบได้เลย และจำเป็นที่จะต้องหันไปพึ่งหนี้นอกระบบ ซึ่งมีดอกเบี้ยสูง โดยมีผลต่อหนี้ครัวเรือนในอนาคตด้วย และจะเป็นการสร้างความเป็นธรรมให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยด้วย ส่วนกรณีที่ผู้ที่เป็นหนี้เสียอยู่และยังไม่เคยเคลียร์หนี้เดิม ก็ยังคงอยู่ในบัญชีดำตามเงื่อนไขเดิม”

สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ กระทรวงการคลังจะมีการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเดินหน้าแก้ระเบียบกฎหมายดังกล่าว ซึ่งเชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากเรื่องกฎหมายเครดิตบูโรจะต้องมีการแก้ไขในบางประเด็นอยู่แล้ว หากดำเนินการเรียบร้อยแล้วจะเดินหน้าเสนอ ครม.อนุมัติต่อไป เพื่อเดินหน้าเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร