คลังมั่นใจมาตรการหักภาษี 1.15เท่า ช่วยSME 4 แสนราย บรรเทาผลกระทบขึ้นค่าจ้าง รัฐยอมแลกสูญ5.4พันล้าน

แฟ้มภาพไม่เกี่ยวข้องกับข่าว

คลังมั่นใจมาตรการหักภาษี 1.15 เท่าช่วยเอสเอ็มอี 4 แสนราย บรรเทาผลกระทบขึ้นค่าจ้างได้ดี รัฐยอมแลกสูญรายได้ 5.4 พันล้านบาท ชี้มาตรการจูงใจใครขึ้นค่าจ้างเร็วก็หักภาษีได้มาก มีผล 1 เม.ย.-31 ธ.ค.61

นางแพตริเซีย มงคลวนิช รองอธิบดีกรมสรรพากร รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า มาตรการภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ให้ผู้ประกอบการนำรายจ่ายค่าจ้างรายวันที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างมาหักเป็นรายจ่ายได้เป็นจำนวน 1.15 เท่าของค่าจ้างรายวันที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างนั้น จะมีผลกับการขึ้นค่าจ้างระหว่าง วันที่ 1 เมษายน 2561 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561

โดยที่ผู้ประกอบการรายใดขึ้นค่าจ้างเร็ว ก็จะหักภาษีได้ทันที ถือเป็นการจูงใจให้ขึ้นค่าจ้างเร็ว ขณะเดียวกันทางกรมสรรพากรมองว่า มาตรการครั้งนี้ ที่ให้หักรายจ่ายได้ 1.15 เท่า ของค่าจ้างรายวันที่คิดจากฐาน ไม่ใช่จากส่วนของค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นนั้น จะช่วยบรรเทาภาระให้แก่เอสเอ็มอีได้ดีกว่าการให้หักรายจ่ายได้เฉพาะค่าจ้างส่วนที่เพิ่มขึ้น แม้ว่ารัฐจะสูญเสียรายได้ 5,400 ล้านบาทก็ตาม

ทั้งนี้ กรมสรรพากรประเมินว่า นายจ้างที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการรวมกันไม่เกิน 100 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน มีอยู่ด้วยกันราว 400,000 ราย

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ) โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ดังนี้

1. กำหนดให้นายจ้างที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการรวมกันไม่เกิน 100 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน ในรอบระยะเวลาบัญชี ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ สามารถนำรายจ่ายค่าจ้างรายวันที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างมาหักเป็นรายจ่ายได้เป็นจำนวน 1.15 เท่าของค่าจ้างรายวันที่จ่ายให้แก่ลูกจ้าง

ทั้งนี้ ค่าจ้างรายวัน หมายถึง เงินค่าจ้างที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายวัน โดยค่าจ้างรายวันนั้น ไม่รวมถึงค่าล่วงเวลา เบี้ยเลี้ยง ประโยชน์อื่นใดที่คำนวณได้เป็นเงิน ภาษีอากรที่ผู้จ่ายออกแทนให้ ที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงาน

2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรการดังกล่าว จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข ดังนี้ (1) ต้องมีการจ่ายค่าจ้างรายวันให้แก่ลูกจ้างในอัตราที่สูงกว่าอัตราค่าจ้างรายวันเดิม ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นได้กำหนดและประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไป หรือที่ได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างก่อนวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2561 (2) ต้องไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างงานในกรณีอื่น ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ทั้งนี้ สำหรับค่าจ้างรายวันที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561

“มาตรการดังกล่าว จะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดกลาง และขนาดย่อมที่มีต้นทุนแรงงานเป็นส่วนสำคัญในการประกอบกิจการให้มีศักยภาพในการแข่งขันในประเทศได้อย่างยั่งยืน และจูงใจให้นายจ้างได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกจ้างให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อันเป็นการสนับสนุนการกระจายความมั่งคั่งและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน” นางสาวกุลยากล่าว