ธ.ก.ส.หนี้เสียพุ่ง 12.5% เกษตรกรอ่วมโดนพิษโควิด-น้ำท่วม

เกษตรกร เงิน

ธ.ก.ส.เผยผลดำเนินงานครึ่งแรกปีบัญชี’65 หนี้เสียพุ่ง 12.5% หลังเกษตรกรโดนโควิด-น้ำท่วมกระทบ คาดสิ้นปีบัญชีดึงกลับลงมาอยู่ระดับ 7% เร่งเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ ด้านกำไรสุทธิลดลง 50 ล้านบาท คาดทั้งปีทำได้ 7,000 ล้านบาท

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า เนื่องจากเกษตรกรได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด รวมถึงสงครามรัสเซียและยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต และเงินเฟ้อ รวมทั้งสถานการณ์น้ำท่วม จึงส่งผลให้สถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ช่วงครึ่งปีแรกของปีบัญชี 2565 อยู่ที่ระดับ 12.5% อย่างไรก็ดี ธนาคารก็จะให้ความสำคัญกับการเข้าไปดูแลด้วยการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่นยืน โดยคาดว่าจะทำให้สิ้นปีบัญชี 2565 (31 มี.ค. 66) สัดส่วน NPL จะอยู่ที่ระดับ 7%

ธนารัตน์ งามวลัยรัตน์
ธนารัตน์ งามวลัยรัตน์

“ยอมรับว่าสัดส่วน NPL เพิ่มสูงขึ้น เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรเผชิญภาวะข้อจำกัดทางด้านการเงิน ซึ่งหาก ธ.ก.ส.เข้าไปเร่งจัดเก็บก็คงไม่ใช่ เราจึงจะเข้าไปช่วยดูแลด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งนี้ ในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. 65 เกษตรกรจะมีรายได้จากการเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งจะทำให้เกษตรกรกลับมามีความสามารถในการชำระหนี้”

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงาน ธ.ก.ส. ครึ่งแรกของปีบัญชี 2565 สามารถปล่อยสินเชื่อเพื่อดูแลเกษตรกรแล้วกว่า 368,745 ล้านบาท และคาดว่าสิ้นปีบัญชี 2565 (31 มี.ค. 65) จะสามารถปล่อยสินเชื่อได้กว่า 7 แสนล้านบาท โดยสินเชื่อสะสม ณ 30 ก.ย. 65 กว่า 1.6 ล้านล้านบาท และเงินฝากอยู่ที่ 1.77 ล้านล้านบาท ซึ่งมีสินทรัพย์มากกว่า 2.12 ล้านล้านบาท

ขณะที่หนี้สินอยู่ที่ระดับ 1.974 ล้านล้านบาท ส่วนรายได้จากดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ อยู่ที่ระดับ 4.2 หมื่นล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินงานของแบงก์อยู่ที่ประมาณ 4.1 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิครึ่งแรกของปี 2565 อยู่ที่ 1,388 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ประมาณ 50 ล้านบาท คาดว่าสิ้นปีบัญชี 2565 จะมีกำไรสุทธิ 7,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในภาวะที่แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น สถาบันการเงินของรัฐยังยืนยันที่จะตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 2 ครั้งที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ก็ยังตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ช่วยเหลือลูกหนี้เกษตรกรอยู่ รวมทั้งแบงก์รัฐทุกแห่งด้วย และจะรอติดตามสถานการณ์การประชุม กนง. อีกครั้งในวันที่ 30 พ.ย. 65 หาก กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ประเมินแล้วไม่กระทบแบงก์ ธนาคารก็จะยังตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ให้นานที่สุด