เงินบาทแข็งค่า หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐแย่กว่าคาด จับตาประชุมเฟดคืนนี้

ภาพ : pixabay

ค่าเงินบาทแข็งค่า หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐแย่กว่าคาด จับตาการประชุมเฟดคืนนี้ ขณะที่นักลงทุนคาดเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% ส่วนปัจจัยภายในประเทศภาคเอกชน กกร.คาดเศรษฐกิจไทยปี 2565 ยังขยายตัวได้ 3.0-3.5% จากการส่งออกและท่องเที่ยว

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/11) ที่ระดับ 37.68/70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (1/11) ที่ระดับ 37.82/84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังเอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.4 ในเดือน ต.ค. จากระดับ 52.0 ในเดือน ก.ย. แต่สูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 49.9

ดัชนี PMI ได้รับผลกระทบจากการร่วงลงของคำสั่งซื้อใหม่แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2563 ขณะที่การจ้างงานชะลอตัว ส่วนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและอุปสงค์ของผู้บริโภค

อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคการผลิตของสหรัฐ โดยขยายตัวเป็นเดือนที่ 28 ติดต่อกัน ทั้งนี้ นักลงทุนในตลาดการเงินจับตาผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะมีการแถลงในคืนวันนี้ตามเวลาสหรัฐ หรือในช่วงเช้าตรู่ของวันพรุ่งนี้ตามเวลาไทย ขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% หากเป็นไปตามคาด ก็จะส่งผลให้เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกัน 4 ครั้ง หลังจากปรับขึ้น 0.75% ในเดือน มิ.ย., ก.ค. และ ก.ย.

ขณะเดียวกันนักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.50% ในการประชุมเดือน ธ.ค. และจากนั้นจะเริ่มลดวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มี.ค.ปีหน้า

ไมเคิล กาเพน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากแบงก์ ออฟ อเมริกากล่าวว่า “เราคาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมครั้งนี้ และจากนั้นจะเริ่มส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค.”

ทั้งนี้นายกาเพนคาดการณ์ว่า นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดจะส่งสัญญาณในระหว่างการแถลงข่าวว่า เฟดได้มีการหารือกันเกี่ยวกับการชะลอปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ก็จะไม่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำเช่นนั้น นอกจากนี้ เขาคาดว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือน ธ.ค.

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 3.0-3.5% มูลค่าการส่งออก ขยายตัว 7-8% และอัตราเงินเฟ้อ 6.0-6.5% โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ ตามการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว และอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่ผลกระทบจากน้ำท่วมอยู่ในวงจำกัด ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 37.56-37.76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 37.65/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/11) ที่ระดับ 0.9882/85 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (1/11) ที่ระดับ 0.9926/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ยูโรได้รับแรงกดดัน หลังคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมครั้งนี้

นอกจากนี้ ยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะชะลอตัวต่อเนื่อง หลังนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) เปิดเผยว่า ECB ต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยต่อไป เพื่อรับมือเงินเฟ้อ แม้ความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจยูโรโซนจะเข้าสู่ภาวะถดถอยจะเพิ่มขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9870-0.9907 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 0.9897/99 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่างินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/11) ที่ระดับ 147.38/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (1/11) ที่ระดับ 147.49/51 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ด้วยนโยบายทางการเงินที่สวนทางธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ทำให้ช่องว่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่นขยายกว้างขึ้น และมีโอกาสที่ค่าเงินเยนจะอ่อนค่าต่อไป ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 147.02-148.35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 147.17/19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย (2/11), ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ต.ค. (3/11)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.25/-8.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.9/-7.7 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ