กรมศุลกากรจัดพิธีมอบใบอนุญาตจัดตั้งเขตปลอดอากร ให้ผู้ประกอบการเขตปลอดอากรจำนวน 63 ราย

วันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2561) นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากรเป็นประธานในพิธีมอบใบอนุญาตจัดตั้งเขตปลอดอากร ให้แก่ผู้ประกอบการเขตปลอดอากรที่ดำเนินการอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ จำนวน 63 ราย

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และเพิ่ม
ช่องทางการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่ผู้ประกอบการ และเพื่อให้สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน กรมศุลกากรจึงได้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ซึ่งตามมาตรา 139
และ 259 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตจัดตั้งเขตปลอดอากรต้องเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาต รวมถึงผู้ที่จัดตั้งเขตปลอดอากรรายเดิมก่อนมีการประกาศใช้กฎหมายศุลกากรฉบับดังกล่าว ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเสียค่าธรรมเนียมตามที่บัญญัติไว้ใน พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ภายใน 180 วัน หลังจากพระราชบัญญัติศุลกากร มีผลบังคับใช้ ซึ่งปัจจุบันมีผู้จัดตั้งเขตปลอดอากรรายเดิมได้ดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแล้วเสร็จ และยื่นคำร้องขอรับใบอนุญาตจัดตั้งเขตปลอดอากรฉบับใหม่ จำนวน 63 ราย หรือ 77 เขต จากเขตปลอดอากรภายใต้กฎหมายศุลกากรเดิมทั้งหมด 109 เขต

เขตปลอดอากร คือเขตพื้นที่ที่กำหนดไว้ เพื่อประโยชน์ทางอากรศุลกากร ในการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ โดยต้องได้รับใบอนุญาตจากกรมศุลกากร ทั้งนี้ผู้จัดตั้งเขตปลอดอากรรายแรกได้รับอนุมัติจัดตั้งเขตปลอดอากร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ซึ่งปัจจุบันกรมศุลกากรได้กำหนดประเภทเขตปลอดอากรไว้ 7 ประเภท ได้แก่ 01 – พาณิชยกรรม จำนวน 34 เขต 02 – อุตสาหกรรม จำนวน 9 เขต 03 – อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม จำนวน 52 เขต 04 – ครัวการบิน จำนวน 4 เขต 05 – เขตปลอดอากรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 1 เขต 06 – ซ่อมหรือสร้างอากาศยานหรือเรือ จำนวน 3 เขต และ 07 – ปิโตรเลียม จำนวน 6 เขต รวมทั้งสิ้น 109 เขต ซึ่งจำนวนเขตปลอดอากรดังกล่าว สามารถแสดงให้เห็นถึงภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศและศักยภาพในการจัดตั้งเขตปลอดอากรเพื่อเป็นฐานการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม และการกระจายสินค้าในเชิงพาณิชยกรรมไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจร่วมกัน กรมศุลกากรจึงได้จัดพิธีมอบใบอนุญาตจัดตั้งเขตปลอดอากร พร้อมทั้งออกแบบใบอนุญาตจัดตั้งเขตปลอดอากรในรูปแบบที่สวยงามและทันสมัย เพื่อแสดงความขอบคุณผู้ประกอบการที่ร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ขับเคลื่อนต่อไป

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถสอบถามการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรด้านต่างๆ อาทิ เขตปลอดอากร การคืนอากรตามมาตรา 29 การชดเชยค่าภาษีอากร และคลังสินค้าทัณฑ์บน ได้ทาง “คลินิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร” โดยสามารถติดต่อรับบริการได้ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ชั้น 2 กรมศุลกากร เปิดบริการทุกวัน จันทร์- ศุกร์ เวลา 9.00-16.00 น.