ลุ้นผลเลือกตั้งสหรัฐ-คอมเมนต์เฟด หนุนเงินบาทผันผวน

เงินบาท

แบงก์ประเมินกรอบเงินบาทเคลื่อนไหว 37.10-38.00 บาทต่อดอลลาร์ จับตา “การเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐ-คอมเมนต์เจ้าหน้าที่เฟด หลังส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย ด้านฟันด์โฟลว์ยังคงไหลเข้า

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 7-11 พฤศจิกายน 65) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 37.10-38.00 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยปัจจัยติดตามจะเป็นเรื่องการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ และคอมเมนต์ของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะทยอยออกมาพูด 8 คน ภายหลังจากเฟดออกมาส่งสัญญาณการไม่ได้เร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ตลาดรอดูทิศทางความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ว่าเป็นอย่างไร 

และตัวเลขเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐในเดือนตุลาคม ซึ่งตัวเลขออกมาค่อนข้างบวกตลาดมองเป็นเรื่องดี เพราะอัตราว่างงานสูงกว่าคาด เฟดคงไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี เฟดคงขึ้นดอกเบี้ยไปที่ระดับ 5% หรือมากกว่าเล็กน้อย 5.25% ซึ่งตลาดรับรู้ไปแล้ว 

“ดอลลาร์อ่อนหลังตัวเลข nonfarm payrolls ออกมาบวก ส่งผลค่าเงินบาทแข็งค่า สอดคล้องตามราคาทองคำพุ่งขึ้นด้วย”

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าตลาดหุ้นซื้อสุทธิ 1.42 หมื่นล้านบาท ขณะที่ตลาดพันธบัตร (บอนด์) ซื้อสุทธิ 1.44 หมื่นล้านบาท ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีนักลงทุนเข้ามาซื้อบอนด์ตัวระยะสั้นค่อนข้างมากราว 1.7 หมื่นล้านบาท และเทขายในส่วนของตัวระยะยาว ส่วนหนึ่งที่เข้าซื้อตัวสั้นเยอะ จากการทำธุรกรรมทำกำไรปราศจากความเสี่ยง (Arbitrage) โดยการกู้ต้นทุนที่ต่ำและหาผลตอบแทนสูง 2-3% ถือว่าค่อนข้างดี อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีผลต่อค่าเงินบาทมากนัก 

“แนวโน้มฟันด์โฟลว์สัปดาห์หน้ามองว่านักลงทุนไม่ได้กังวลปัจจัยเฟดแล้ว และหากเซนติเมนต์ของจีนดีขึ้น คาดว่าน่าจะมีเงินทุนไหลเข้ามาซื้อหุ้นได้บ้าง ส่วนภาพบอนด์ตลาดยังคงกังวลเรื่องของเฟดขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ทำให้มีเงินไหลเข้าบอนด์สั้น ซึ่งโดยรวมน่าจะมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ แต่ไม่มากราว 5,000 ล้านบาท” 

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าธนาคารประเมินกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 7-11 พฤศจิกายน 65) อยู่ที่ 37.80-38.00 บาทต่อดอลลาร์ 

ทั้งนี้ ติดตามข้อมูลเงินเฟ้อเดือนตุลาคมของสหรัฐเป็นสำคัญ ซึ่งจะส่งผลต่อการคาดการณ์ดอกเบี้ยปลายทางของเฟด และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ) 

นอกจากนี้ อาจต้องระวังว่ากระแสเงินทุนที่ไหลเข้ามาในระยะนี้จะต่อเนื่องหรือไม่ เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในระดับสูง

ส่วนการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐวันที่ 8 พฤศจิกายน คาดว่าพรรคของประธานาธิบดีไบเดนจะสูญเสียที่นั่ง อย่างไรก็ตาม สำหรับปัจจัยชี้นำค่าเงินบาทเราให้น้ำหนักที่เฟดและนโยบายควบคุมโรคของจีนเป็นหลัก

“ตลาดยังมีความหวังเกี่ยวกับแนวโน้มที่จีนอาจผ่อนคลายนโยบายปลอดโควิด ซึ่งจะช่วยพยุงเศรษฐกิจโลก และสร้างแรงส่งเชิงบวกต่อทิศทางการท่องเที่ยวของไทยในปี’66”