ดัชนีชี้วัดการครองชีพครัวเรือนเดือน พ.ย. เพิ่มขึ้นสูงสุดรอบ 14 เดือน

หมอชิต แบกเสบียงกลับกรุงหลังหยุดยาว ลดค่าครองชีพภาวะเศรษฐกิจฝืด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน เดือนพ.ย. เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 14 เดือน แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ขณะที่ช่วงสิ้นปีครัวเรือนส่วนใหญ่มีแผนสังสรรค์กับเพื่อนและครอบครัว

วันที่ 10 ธันวาคม 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในเดือน พ.ย.2565 ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI) ในปัจจุบันและ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ 35.0 และ 36.4 จาก 33.8 และ 35.7 ในเดือน ต.ค.2565 ท่ามกลางเงินเฟ้อไทยที่ปรับขึ้นในอัตราที่ชะลอลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน อีกทั้ง ครัวเรือนได้รับปัจจัยหนุนจากมุมมองที่ดีขึ้นเกี่ยวกับการจ้างงาน หลังภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

นอกจากนี้ จากการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนการสังสรรค์และท่องเที่ยวของครัวเรือนในช่วงสิ้นปี 2565 พบว่า ครัวเรือนร้อยละ 38 มีแผนในการจัดงานสังสรรค์กับเพื่อน ๆ หรือครอบครัว

โดยภาคการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และภาวะการครองชีพของครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงปลายปีซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวของไทย

นอกจากนี้ ต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐที่คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นก่อนช่วงสิ้นปีนี้ เช่น มาตรการลดหย่อนทางภาษี มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและท่องเที่ยว เป็นต้น

Advertisment

เมื่อมองไปในปี 2566 การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังต้องเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยงสำคัญ โดยเฉพาะความผันผวนของราคาพลังงานซึ่งอาจส่งผลต่อขีดจำกัดของมาตรการอุดหนุนภาครัฐในระยะข้างหน้า อีกทั้ง แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยที่เริ่มเห็นภาพหดตัวในเดือนต.ค.2565 รวมถึงภาคการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวได้อย่างจำกัด หรือน้อยกว่าที่คาดการณ์ในปีหน้า

อย่างไรก็ดี อาจมีปัจจัยบวกจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่จะกลับเข้ามาหากมีการเปิดประเทศ