โบรกฯวิเคราะห์แผนเจ้าสัว BJC สปินออฟ ดัน “Big C” เข้าตลาดหุ้น

บิ๊กซี

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สื่อต่างประเทศรายงานกระแสข่าวว่า ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี (Big C) ธุรกิจค้าปลีกภายใต้ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) หนึ่งในธุรกิจของ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ถูกวางแผนแยกธุรกิจ (spin-off) ออกมา เพื่อเตรียมกลับเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง

โดยมีการคาดการณ์เม็ดเงินระดมทุนสูงถึง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งทาง BJC ไม่ได้ปฏิเสธข่าวดังกล่าว เพียงแต่ระบุว่า หากมีความคืบหน้าจะแจ้งต่อไป

แยกธุรกิจ “มีได้-มีเสีย”

เมื่อลองมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้เรื่องนี้ โดย “ธนวิชช์ บุญชูวงศ์” รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) หรือ Pi กล่าวว่า แผนแยกธุรกิจบิ๊กซีเข้าตลาดหุ้น มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น เพราะทาง BJC จำเป็นต้องใช้เงินทุนสำหรับการรีโนเวตสาขาใหม่มากขึ้น เพื่อให้แข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้

อย่างไรก็ตาม การ spin-off บิ๊กซีออกมานั้น จะทำให้ BJC มีสัดส่วนการถือหุ้นในบิ๊กซีลดลง และอาจกระทบต่อส่วนแบ่งกำไรของ BJC ที่ได้จากบิ๊กซีที่ลดลงด้วย แต่ก็จะแลกมากับการได้เงินไปใช้ลงทุนรีโนเวตสาขาใหม่ ซึ่งมีโอกาสทำให้กำไรต่อสาขาสูงขึ้นได้ เนื่องจากมีคนเข้ามาใช้บริการมากขึ้น

“เชื่อว่ามูลค่ามาร์เก็ตแคปของ BJC จะยังคงสูงอยู่ เพราะคาดว่าน่าจะยังคงถือหุ้นอยู่ในสัดส่วนใหญ่ในบิ๊กซี พิจารณาจากหุ้นจดทะเบียนในกลุ่มธุรกิจคุณเจริญ ก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่ก็ถือกันอยู่กว่า 75%”

จำเป็นต้องใช้เงินรีโนเวตสาขา

ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 3/2565 บิ๊กซีมีสาขาอยู่ทั้งสิ้น 1,610 แห่ง แยกเป็น สาขาใหญ่ไฮเปอร์มาร์เก็ต 154 สาขา และมินิบิ๊กซีอีก 1,456 สาขา โดยเนื่องจากรายได้หลักมาจากไฮเปอร์มาร์เก็ต

ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นสาขาเก่า หากเทียบคู่แข่งอย่างโลตัสส์ (Lotus’s) และท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต (Tops) ที่สาขาส่วนใหญ่น่าเดินช็อปปิ้งมากกว่า ดังนั้น บิ๊กซีจึงน่าจะจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนในส่วนนี้ เพื่อมีโอกาสดึงลูกค้าเข้าสาขาได้มากขึ้น และทำให้การแข่งขันดีขึ้น

“ไฮเปอร์มาร์เก็ต โดยเฉลี่ยแล้วต้องใช้เม็ดเงินรีโนเวตสูงสุดประมาณ 400 ล้านบาทต่อสาขา แต่คาดการณ์ได้ว่าบิ๊กซีอาจต้องใช้เงินลงทุนมากพอสมควร สมมุติต้องรีโนเวตประมาณ 70 สาขา ใช้เงินประมาณ 200-300 ล้านบาทต่อสาขา ก็ต้องใช้เงินลงทุนระดับกว่าหมื่นล้านบาท”

คาดกำไร BJC ปีนี้พลิกบวก 30%

สำหรับตลอดปี 2565 นี้ “ธนวิชช์” ประเมินว่า กำไร BJC จะฟื้นตัวกลับมาเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) ที่ขาดทุน โดยคาดจะมีกำไรสุทธิที่ 4,650 ล้านบาท และในปี 2566 คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องที่ 29% โดยมีกำไรสุทธิ 6,020 ล้านบาท ปัจจัยหนุนมาจากธุรกิจบิ๊กซีค่อย ๆ ทยอยฟื้นตัว

โดยเฉพาะการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม (SSSG) น่าจะกลับมาเป็นบวกได้ในปีหน้า เห็นจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่กลับเข้ามาแล้ว ซึ่งเป็นแรงหนุนให้ยอดขายในจังหวัดท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัวดีขึ้น ประกอบกับปีนี้เริ่มเห็นการฟื้นตัวของสินค้าในกลุ่มชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน ที่คาดว่ายอดขายปีหน้าจะกลับมาปกติ

“ปีนี้สัดส่วนรายได้ของ BJC มาจากธุรกิจบิ๊กซีประมาณ 65% ธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง 16% ธุรกิจกระดาษทิชชู 14% และธุรกิจเฮลท์แคร์อีก 5%”

โดยในอนาคตทิศทางการแข่งขันธุรกิจค้าปลีก จะมุ่งสู่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมากขึ้น โดยใครที่สามารถจูงใจให้ลูกค้ามาใช้บริการแอปพลิเคชั่นของตัวเองได้ โดยความน่าสนใจของแอปจะเป็นตัวบ่งบอกการเติบโตของยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้

ชี้โอกาสเหมาะเข้าสะสมหุ้น

“ธนวิชช์” กล่าวด้วยว่า ประเมินราคาเป้าหมายหุ้น BJC ช่วงกลางปี 2566 ไว้ที่ 40 บาท ยังคงแนะนำ “ซื้อ” เนื่องจากผลประกอบการอยู่ในช่วงการทยอยฟื้นตัว และมีปัจจัยบวกจากแผน spin-off ธุรกิจบิ๊กซีเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย

ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นโอกาสในการเข้าสะสมหุ้น เพราะมองว่าคงไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าการโดนผลกระทบโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาแล้วที่ SSSG ติดลบอย่างหนักมาต่อเนื่อง 2 ปี จึงน่าจะเห็นทิศทางเป็นบวกมากขึ้น

“ส่วนที่ตลาดมองว่าธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง มีมาร์จิ้นซอฟต์ลงจากต้นทุนสูงขึ้น แต่ก็เชื่อว่าคงทยอยดีขึ้นจากการปรับราคา ในแง่ของดีมานด์ในธุรกิจกระป๋อง ก็ยังแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในเวียดนามมียอดขายที่ดี ทำให้ภาพรวมของยอดขายที่ดีจะกลบมาร์จิ้นที่ไม่ค่อยดีช่วงก่อนหน้านี้ และถ้าเห็นราคาอะลูมิเนียมเริ่มปรับตัวลดลงแล้ว มีทิศทางที่อัตรากำไรของธุรกิจแพ็กเกจจิ้งจะทยอยฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังเทียบกับปี 2564 คงไม่ได้”

รายได้ฟื้นหนุนกำไร 9 เดือนพุ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า BJC ได้รายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2565 ว่า มีรายได้รวม 40,283 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,361 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้อื่นในกลุ่มธุรกิจ
ค้าปลีกสมัยใหม่

ซึ่งมาจากรายได้ค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นและการให้ส่วนลดเฉลี่ยแก่ผู้เช่าลดลง โดยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้น 932 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 565 ล้านบาท หรือ 153.9%

ขณะที่งวด 9 เดือน ปี 2565 บริษัทมีรายได้ 121,095 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,455 ล้านบาท คิดเป็น 10.4% จากยอดขายที่เติบโตในกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของรายได้อื่น เนื่องจากการ
กลับมาฟื้นตัวของรายได้ค่าเช่า ส่วนกำไรสุทธิ 9 เดือนอยู่ที่ 3,382 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,180 ล้านบาท หรือคิดเป็น 53.6%

หลังจากนี้คงต้องติดตามความคืบหน้าของแผนการแยกธุรกิจนี้ต่อไป ว่าจะเกิดขึ้นได้เร็วแค่ไหน หรือสุดท้ายแล้วอาจจะไม่เกิดขึ้นเลย หากธุรกิจมีคำตอบอื่นที่ใช่มากกว่า