ปรับกลยุทธ์ การใช้เงินทุนหมุนเวียน

ปรับกลยุทธ์
คอลัมน์ : Smart SMEs
ผู้เขียน : ttb analytics

ในปี 2565 ภาคธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ได้รับผลกระทบจากภาวะต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนมากขึ้นกว่าเดิม กอปรกับทิศทางเศรษฐกิจไทยเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวจากการประมาณการของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในปี 2566 GDP SMEs อาจเพิ่มขึ้นแตะ 4.9% สูงกว่าค่าเฉลี่ยในภาพรวมที่ 3.6%

ซึ่งเศรษฐกิจที่ขยายตัว ส่งผลบวกต่อยอดขายของกิจการ และทำให้ความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มมากขึ้นเข้าไปอีก

ดังนั้น ด้วยความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปี 2566 กอปรกับดอกเบี้ยนโยบายที่มีการปรับเพิ่มขึ้น 0.50-0.75% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาก็ยังมีแนวโน้ม
ที่อาจขยับเพิ่มขึ้นต่อไป ด้วยปัจจัยเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

โดยทางศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) แบ่งผลกระทบจากภาวะต้นทุนทางการเงินที่ปรับเพิ่มบนความต้องการหมุนเวียนที่มากขึ้น ผ่านอัตราการพึ่งพิงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินและนำมาวิเคราะห์ร่วมกับอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยของภาคอุตสาหกรรม

โดยแบ่งผลกระทบออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1) อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบน้อย เป็นกลุ่มที่มีลักษณะการประกอบธุรกิจที่พึ่งพิงสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่ำ จากโครงสร้างของการดำเนินธุรกิจที่ไม่ต้องสำรองเงินทุนหมุนเวียนมาก เป็นกลุ่มที่มีโครงสร้างการขายสินค้าเป็นเงินสดหรือระยะเครดิตที่ให้ทางการค้าสั้น

เช่น กลุ่มผู้ค้าสินค้าแฟชั่น กลุ่มผู้ผลิตสินค้าพลังงาน และกลุ่มโทรคมนาคม รวมถึงบางกลุ่มอาจได้รับการชำระเงินล่วงหน้าก่อนส่งมอบบริการ เช่น กลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น

รวมถึงในกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ ธรรมชาติการสต๊อกสินค้าค่อนข้างสั้น เช่น กลุ่มผู้ผลิตพลังงาน

หรือในบางส่วนอาจเป็นกลุ่มที่อาจไม่ต้องสต๊อกสินค้าคงคลังเลย เช่น กลุ่มโทรคมนาคม ส่งผลให้แม้ในช่วงที่กิจการอยู่ในภาวะที่เติบโตดี ถ้าไม่มีการลงทุนขยายกิจการที่ต้องการเงินสินเชื่อระยะยาวแล้ว โดยลักษณะธรรมชาติที่ไม่ต้องสำรองเงินทุนหมุนเวียนมากนัก

ส่งผลให้ธุรกิจในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนต่ำ และควรเน้นการขยายตลาดเพิ่มยอดขายโดยไม่ต้องปรับกลยุทธ์การบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินมากนัก

2) อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบปานกลาง เป็นกลุ่มที่มีลักษณะการประกอบธุรกิจที่ต้องสำรองเงินทุนไว้เพื่อดำเนินธุรกิจ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องให้ระยะสินเชื่อกับลูกค้าของกิจการ รวมถึงมีความจำเป็นต้องสต๊อกสินค้าไว้รองรับคำสั่งซื้อของลูกค้าที่อาจสูงขึ้น

หรือมีการขาดแคลนในบางช่วงเวลา ซึ่งส่วนมากจะเป็นกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มภาคการค้า รวมถึงในกลุ่มผู้ผลิตสินค้าที่เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตสินค้าของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์เหล็ก กลุ่มผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง หรือกลุ่มบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น

ดังนั้น กลุ่มผู้ประกอบการในกลุ่มนี้จึงอาจต้องเตรียมสำรองเงินส่วนตัวในบางส่วนเพื่อใช้รองรับความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่จะเพิ่มขึ้นในปี 2566 เพื่อลดการพึ่งพิงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินลงในช่วงที่ต้นทุนทางการเงินปรับเพิ่มสูงขึ้น

3) อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูง เป็นกลุ่มที่มีลักษณะการประกอบธุรกิจที่ต้องสำรองเงินทุนไว้เพื่อดำเนินธุรกิจจำนวนมาก จากรูปแบบการทำธุรกิจที่รับรู้รายได้ที่ต้องใช้เวลาในการขายสินค้าต่อชิ้นที่มีราคาสูง เช่น กลุ่มผู้ค้ารถยนต์ หรือในกลุ่มที่รายได้มีความไม่แน่นอนและผันผวนตามฤดูกาล เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและปศุสัตว์

รวมถึงในกลุ่มที่เป็นธุรกิจบริการที่ประมาณการรายได้มากกว่าในกลุ่มภาคการค้า เช่น กลุ่มธุรกิจสุขภาพ กลุ่มธุรกิจโรงแรม และร้านอาหาร

ดังนั้น กลุ่มนี้จึงอาจต้องมีการสำรองเงินทุนหมุนเวียนไว้ล่วงหน้าเพื่อรองรับเหตุการณ์ที่คาดการณ์ได้ค่อนข้างยากจากธรรมชาติของธุรกิจเอง

ด้วยเหตุนี้ สำหรับผู้ประกอบการส่วนนี้อาจจำเป็นต้องเร่งปรับกลยุทธ์บางส่วน โดยเพิ่มผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สามารถสร้างรายได้ที่คาดการณ์ได้ให้เพิ่มมากขึ้น เช่น กลุ่มผู้ค้ารถยนต์อาจเพิ่มสัดส่วนรายได้จากค่าบริการให้มากขึ้น หรือในกลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและปศุสัตว์ ควรพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งจะช่วยให้กิจการมีกระแสเงินสดรับที่เพิ่มขึ้น

และอาจช่วยลดการพึ่งพิงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ในระยะถัดไป