คลังคงจีดีพีปีนี้โต 3.8% รายได้ท่องเที่ยวพุ่ง1.2 ล้านล้าน ส่งออกเสี่ยงติดลบ

พรชัย ฐีระเวช
พรชัย ฐีระเวช

คลังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี’66 ขยายตัว 3.8% แรงหนุนท่องเที่ยว-จีนเปิดประเทศ คาดนักท่องเที่ยวต่างชาติทะลักเข้าไทย 27.5 ล้านคน ดันรายได้ท่องเที่ยวแตะ 1.2 ล้านล้านบาท ขยายตัว 228.5% มองส่งออกขยายตัว 0.4% แต่ยังมีโอกาสเสี่ยงติดลบ ตามการชะลอลงของอุปสงค์ 15 ประเทศคู่ค้าหลัก

ส่วนจีดีพีปี’65 โต 3% ลดลงจากคาดการณ์เดิม จับตาปัจจัยเสี่ยง “ขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์-โควิดในประเทศจีน-ปัญหาเงินเฟ้อโลก”

วันที่ 27 มกราคม 2566 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ว่าจะขยายตัว 3% (ช่วงคาดการณ์ 2.8-3.3%) ซึ่งเป็นคาดการณ์ในเดือน ม.ค. 2566 ที่ลดลงจากเมื่อเดือน ธ.ค. 65 ที่ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้คาดการณ์จีดีพีปี 2565 จะขยายตัว 3.2%

เนื่องจากมี 3 ปัจจัยที่ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือ

1.การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน

2.การลงทุนภาครัฐ

ADVERTISMENT

3.การค้าระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ เห็นได้ชัดเจนจากยอดส่งออกที่ชะลอตัว โดยในเดือน ธ.ค.เป็นภาพการติดลบ และคาดการณ์เศรษฐกิจ 15 ประเทศคู่ค้าหลักของไทยจะขยายตัว 3.3% ปรับลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่มองขยายตัวได้ 3.4%

ADVERTISMENT

โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการจะขยายตัว 8.2% ขณะที่ปริมาณการนำเข้าและบริการคาดว่าจะขยายตัว 7.1% โดยได้ประโยชน์จากการผ่อนปรนมาตรการเดินทางระหว่างประเทศของประเทศต่าง ๆ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น

ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและภายในประเทศสามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 6.9% และการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 4.2%

ประเมินปีนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 27.5 ล้านคน

“ทั้งปี 2565 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยจำนวน 11.2 ล้านคน ขยายตัวกว่า 2,500% จากปีก่อนหน้า สร้างรายได้จำนวน 3.6 แสนล้านบาท คิดเป็นค่าใช้จ่าย 33,000 บาท/คน/ทริป อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป โดยกลุ่มหลักเป็นนักท่องเที่ยวตลาดระยะใกล้ เช่น มาเลเซีย, เกาหลี, สิงคโปร์, ลาว, เวียดนาม เป็นต้น”

สำหรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ก็คาดว่าจะขยายตัว 3.8% (ช่วงคาดการณ์ 3.3-4.3%) ยังคงประมาณการเดิมไว้ ได้แรงหนุนที่สำคัญจากการฟื้นตัวภาคท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียที่จะเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น

ซึ่งคาดว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 27.5 ล้านคน จากเดิมที่มองไว้ 21.5 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยว 1.2 ล้านล้านบาท เพิ่มจากครั้งก่อนที่มองแค่ 1 ล้านล้านบาท ขยายตัว 228.5% คิดเป็นค่าใช้จ่ายปรับเพิ่มขึ้นเป็น 43,000 บาท/คน/ทริป

ส่งออกสินค้าเสี่ยงติดลบ

โดยปัจจัยสำคัญคือการกลับมาเปิดประเทศของจีนตั้งแต่ 8 ม.ค. และรัฐบาลจีนยังอนุญาตให้บริษัททัวร์กลับมาดำเนินการขายแพ็กเกจอีกครั้งใน 20 ประเทศรวมถึงไทย แต่คาดว่าในช่วงไตรมาส 1/2566 จะยังไม่มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยมากนัก จากข้อจำกัดของห่วงโซ่อุปทานของสายการบิน

แต่คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะคลี่คลายมากขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/2566 ซึ่งจะส่งผลให้รายได้จากการภาคท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยเสี่ยงจากปริมาณการส่งออกสินค้าจะชะลอลงตามการชะลอลงของอุปสงค์ประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐจะขยายตัวที่ 0.4% (ช่วงคาดการณ์ -0.1 ถึง 0.9%) ซึ่งถือว่ายังมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดลบได้

ทั้งนี้ สอดคล้องคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่คาดว่าเศรษฐกิจ 15 ประเทศคู่ค้าหลักของไทยจะขยายตัว 2.7% ปรับลดจากการประมาณการครั้งก่อนที่เรามองว่าโตได้ 3% เนื่องจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดในหลายประเทศ เริ่มส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

โดยคาดว่าสหรัฐ ญี่ปุ่น และยูโรโซน ชะลอตัวลงค่อนข้างมาก ในขณะที่เศรษฐกิจประเทศในอาเซียนยังคงมีทิศทางการขยายตัว แต่ก็อยู่ในอัตราที่ชะลอลงเช่นกัน เนื่องจากภาคการส่งออกได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ดี คาดว่าผลกระทบดังกล่าวจะไม่รุนแรงมากนัก โดยหลายประเทศยังมีปัจจัยบวกจากเรื่องของการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภายในประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนในการฟื้นตัวเศรษฐกิจหลังโควิด

“ถ้าดูผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เป็นตัวเงิน (Nominal GDP) ก่อนโควิดช่วงสิ้นปี 2562 มูลค่า GDP อยู่ที่ 16.9 ล้านล้านบาท และสิ้นปี 2565 ภายใต้สมมติฐานผลิตภัณฑ์ภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) จะขยายตัว 3% มูลค่า GDP จะไปอยู่ที่ 17.4 ล้านล้านบาท และสิ้นปี 2566 ที่ Real GDP ขยายตัว 3.8% มูลค่า GDP จะมาอยู่ที่ 18.67 ล้านล้านบาท ซึ่งถ้ามองในเชิงมูลค่าจีดีพีเทียบก่อนโควิดกลับไปอยู่สูงกว่าแล้ว”

คาดการณ์เงินบาทปีนี้ 32.50 บาท

สำหรับการบริโภคภาคเอกชนก็คาดว่าจะขยายตัว 3.5% ตามรายได้ประชาชนที่เพิ่มขึ้น โดยบทบาทนโยบายการคลังยังมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ต่อเนื่อง และการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัว 3.6%

ส่วนเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 2.8% (ช่วงคาดการณ์ 2.3-3.3%) ปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% เนื่องจากราคาพลังงานโลกลดลง และคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุล 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 0.5% ของ GDP

ส่วนทิศทางค่าเงินบาท คาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 32.5 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น 7% โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึง 26 ม.ค.เฉลี่ยอยู่ที่ 33.3 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 2565 ที่ 5.1% ในขณะที่ปีก่อนอยู่ที่ 35.07 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่า 9.6% สาเหตุเพราะเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าและการตอบรับการเปิดประเทศจีนเป็นสำคัญ

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือ สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในพื้นที่อื่น ๆ ในโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานต่าง ๆ ด้วย และสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในประเทศจีน และปัญหาเงินเฟ้อโลกที่ยังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง