ตกรถหรือยัง? ตลาดหุ้นจีนเริ่มวิ่งแล้ว

โดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth

การเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบของจีนเมื่อต้นปีนี้ ยังคงเป็นกระแสใหญ่ที่ทั่วโลกฉายสปอตไลท์ไปทุกๆ การเคลื่อนไหวของชาวจีน หลังกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ จากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ต้องติดกับดักการแพร่ระบาดรุนแรงของ Covid-19 มาต่อเนื่อง

เชื่อหรือไม่ว่า แม้ในช่วงที่จีนเผชิญมรสุมโรคระบาดรุนแรง ‘Covid-19’ ในช่วง 3 ปี ที่มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ขั้นสูงสุด Zero Covid ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจจีนอย่างค่อนข้างมาก แต่ขณะเดียวกันกลับพบว่า วันนี้คนจีนกลับมีรายได้เพิ่มขึ้นสวนกระแสเศรษฐกิจอ่อนแอ

ชีพจรเศรษฐกิจจีนแกร่ง บริโภคโตแรง คนจีนรวยเพิ่มขึ้น 

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ประกาศตัวเลขรายได้หลังหักภาษี (Disposible Income) ในปี 2565 ของ 31 มณฑลทั่วประเทศในวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา ตัวเลขรายได้หลังหักภาษีต่อหัวเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 36,883 หยวน เพิ่มขึ้น 5%เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY)

โดย 3 อุตสาหกรรมที่มีรายได้ต่อหัวสูงที่สุด ได้แก่ Information Technology, Finance และ Scientific Research ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่าแม้ปี 2565 จีนจะประสบกับปัญหาล็อกดาวน์ แต่รายได้หลังหักภาษีต่อหัว ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และที่น่าสังเกต คือกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีรายได้สูงที่สุดของมณฑลเซี่ยงไฮ้ แสดงให้เห็นว่า องค์กรในจีนให้ความสำคัญกับการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์มาก และจ่ายค่าตอบแทนให้กับบุคลากรในอุตสาหกรรมนี้สูง

Advertisment

ไม่ใช่แค่รายได้ที่เพิ่มขึ้น ในปี 2565 จำนวนเงินฝากของคนจีนเพิ่มขึ้นถึง 17 ล้านล้านหยวน ตีความได้ว่าในช่วง ล็อกดาวน์ Zero Covid คนจีนออมเงินเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มว่าหลังการยกเลิกมาตรการ Zero Covid เม็ดเงินเหล่านี้จะถูกนำมาใช้บริโภคมากขึ้น

การบริโภคในประเทศถูกคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 6% ในปีนี้ เนื่องจาก ชาวจีนมี Pent Up Demand หรือความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากในประเทศ จากแรงอั้นช่วงวิกฤต Covid-19 ภาพสะท้อนจากในช่วงเทศกาลวันหยุดตรุษจีนที่ผ่านมา ผู้คนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศจำนวนมากแตะ 308 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่า 23.1% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนและเพิ่มขึ้น 88% ของปี 2562 ช่วงก่อนวิกฤต Covid-19 เม็ดเงินใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวสูงถึง 375,843 ล้านหยวน สถิติผู้เดินทางกลับภูมิลำเนามากถึง 225 ล้านคน ตัวเลขการเดินทางและการใช้จ่ายของคนจีนพอจะบอกได้ว่าคนจีนไม่กลัว Covid-19 อีกต่อไปแล้ว แม้จะมีรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากก็ตาม

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้เปิดรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา โดยได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจจีนจะกลับมาเติบโตได้ 5.2% จากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2565 อยู่ที่ 4.4% ส่วนเศรษฐกิจโลก ปรับลดคาดการณ์เหลือ 2.9% จากคาดการณ์เดิมอยู่ที่ 3.4% และในปี 2567 ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP โลก เป็น 3.1% โดยอัตราการเติบโตเฉลี่ยของเศรษฐกิจโลกระหว่างปี 2543-2562 อยู่ที่ 3.8%

ปีนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจจีนกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง เหนือไปกว่านั้นในช่วงที่จีนติดหล่มวิกฤต Covid-19 ยังพบว่า จีนมีการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างอย่างเข้มข้น เพื่อไปสู่เป้าหมายการป็นผู้นำโลกเทคโนโลยี AI จากปัจจุบัน ‘สหรัฐอเมริกา’ รักษาตำแหน่งผู้นำฯ นี้อยู่

Advertisment
‘จีน’ ม้ามืดผู้นำเมกะเทรนด์นวัตกรรมและเทคโนโลยี

วันนี้ ‘จีน’ ก้าวขึ้นแท่นเป็นม้ามืดที่พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ได้อย่างก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ปมร้อนต่างๆ ในประเทศจีนได้เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว

ภาคการผลิตของจีนมีศักยภาพการเติบโตสูงในอนาคต ปัจจุบันจีนขึ้นมาเป็นผู้นำในเทคโนโลยีบางด้านอย่างเต็มตัว เช่น พลังงานสะอาด รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเธียม คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล รวมถึงส่วนประกอบของเทคโนโลยี เมกะเทรนด์หลายอย่างที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนโลกในอนาคต

การพัฒนาเทคโนโลยีหรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ แม้จะต้องใช้งบประมาณมหาศาล รัฐบาลจีนก็พร้อมทุ่มเทงบประมาณอย่างเต็มที่ ในปี 2563 จีนใช้งบประมาณในการวิจัยและพัฒนาสูงถึง 563,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วน 2.4% ของ GDP จีนในปีนั้น ถือว่าสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ และนับเป็นรายจ่ายสำหรับการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่มีสัดส่วน 3 ใน 4 ของงบประมาณทั้งหมด

ขณะที่ 3 ตลาดเทคโนโลยีเมกะเทรนด์ที่บริษัทจีนมีมาร์เกตแชร์มากที่สุดในโลก และยังมีแนวโน้มเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง จนทิ้งห่างคู่แข่งจากประเทศอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ ได้แก่

เครื่องใช้ไฟฟ้า แบรนด์ Haier ผู้ผลิตเครื่องซักผ้า ตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศที่สร้างรายได้จากทั่วโลก ด้วยส่วนแบ่งการตลาดถึง 25% หรือ 1 ใน 4 ของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วโลก

คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือ PC ปัจจุบันแบรนด์ Lenovo สามารถพัฒนา PC ที่มีคุณภาพในราคาที่เข้าถึงได้ วันนี้เป็นแบรนด์ PC ทื่ครองตลาดผู้ใช้งานทั่วโลกสูงถึง 24.7%

พลังงานสะอาด เวลานี้จีนถือเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดโลก จากบริษัทยักษ์ใหญ่ 3 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด คือ บริษัท LONGi Green Energy Technology Co. Ltd. มีส่วนแบ่งตลาดแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 25% บริษัท BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกสูงถึง 16.9% และ บริษัท CATL บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 34.8% นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายตลาดเทคโนโลยีที่เป็นเบอร์ 1 อย่างเงียบๆ โดยเฉพาะในด้านการผลิตชิ้นส่วนเทคโนโลยีต้นน้ำ

จะเห็นว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน มีความสามารถขยายตลาดเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ง่ายและรวดเร็วตามยอดผู้ใช้งานมหาศาล ซึ่งหมายถึงตัวเลขผลประกอบการของธุรกิจที่จะเติบโตแบบทวีคูณ (Exponential Growth) เมื่อมีผู้ใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ และเงินลงทุนที่จะเพิ่มพูนขึ้นพร้อมสำหรับต่อยอดเทคโนโลยีขั้นถัดไป รวมถึงการพัฒนานักวิทยาศาสตร์จีน ที่เป็นหัวกะทิในด้านต่างๆ จำนวนมาก จีนมีความพร้อมทั้งเงินทุนและคน พร้อมก้าวขึ้นไปท้าชิงการเป็นเบอร์หนึ่งด้านเศรษฐกิจเทียบเคียงกับสหรัฐฯ และหัวหอกในการพาพญามังกรให้บินสูง นั่นก็คือ บริษัทเทคโนโลยีจีน หรือเทคฯ จีนนั่นเอง

ปี 65 ขึ้นแท่นผู้นำโลกทั้งส่งออกรถยนต์-นวัตกรรมโลก

ใน ปี 2565 อุตสาหกรรมหลักๆ อย่างอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของจีนได้แซงหน้าสหรัฐฯ แล้ว โดยจีนเป็นผู้ส่งออกรถยนต์เบอร์ 3 ของโลกแล้ว เป็นรองเพียงแค่เยอรมนีและญี่ปุ่นเท่านั้น ปีที่แล้ว จีนส่งออกรถยนต์มากเป็นอันดับ 3 ของโลกที่ 2.5 ล้านคัน เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจากในปี 2563 และปัจจุบันค่ายรถยนต์ต่างชาติได้เข้าไปตั้งโรงงานในประเทศจีนและส่งออกไปทั่วโลก โดยเฉพาะปีที่แล้ว รถ Tesla ที่ผลิตในจีนกลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ส่งออกไปยุโรปมากที่สุด รวมไปถึงแบรนด์ Volvo ที่ถูกกลุ่ม Geely ซื้อไป และแบรนด์ BMW ก็ได้เพิ่มสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในจีนเช่นกัน

แนวโน้มการเติบโตของรถยนต์สัญชาติจีน โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง BYD และ NIO ที่ได้บุกตลาดต่างประเทศอย่างหนัก และครองส่วนแบ่งการตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโลกไปไม่น้อย โดยได้รับความนิยมอย่างมากในละตินอเมริกาและตะวันออกกลาง

เรื่องนวัตกรรมของจีน ยังมีการพัฒนาเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงที่ยาวที่สุดในโลก หรือ Hyperloop สวนกระแสสหรัฐฯ ที่เริ่มซาลง โดยล่าสุดจีนได้ทดลองวิ่งเป็นครั้งแรกแล้ว ด้วยขนาดแคปซูลจริง ซึ่งการทดลองดังกล่าวเกิดขึ้นในเมือง Datong มณฑล Shanxi โดยคาดการณ์ความเร็วสูงสุดไปแตะที่ระดับ 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งหากแล้วเสร็จจะกลายเป็น พาหนะบนบกที่วิ่งได้เร็วที่สุดในโลก ซึ่งในการทดลองที่ผ่านมา ความเร็วอยู่ที่ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนอีกด้วย

ปัจจุบัน จีนมีเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงที่ยาวที่สุดในโลกระยะทางกว่า 42,000 กิโลเมตร และมีความได้เปรียบในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ด้วยเม็ดเงินสนับสนุนจากรัฐบาล

จับตา ‘ChatGPT’ เวอร์ชั่นจีน เทคฯ จีนปึ๋งปั๋งหลังรัฐบาลปลดล็อก

ล่าสุด จีนประกาศศักดา เตรียมจะเปิดตัวระบบ ‘ChatGPT’ เวอร์ชั่นจีน หลังจากที่บริษัทวิจัย Open AI สัญชาติสหรัฐฯ ได้เปิดตัว ‘ChatGPT’ เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่ง ‘ChatGPT’ เป็นโปรแกรม AI Chatbot หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่สามารถสื่อสารผ่านข้อความกับมนุษย์ได้อย่างฉลาดและเป็นธรรมชาติ วันนี้มีผู้ใช้งานแตะระดับ 100 ล้านคนใน 2 เดือน ทำให้บริษัทเทคโนโลยีทั่วโลกหันมาพัฒนาระบบ Chatbot ของตัวเองขึ้นมาบ้าง

วันนี้ ‘Baidu’ บริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ของจีน ประกาศชัดเจนว่าจะเปิดตัวโปรแกรม Chatbot ที่คล้ายกับ ‘ChatGPT’ โดยใช้ชื่อว่า Ernie Bot ที่เตรียมจะเปิดตัวเป็นทางการในเดือนมีนาคมที่กำลังจะถึงนี้ ข่าวดีโหนกระแสโลกขนาดนี้ หุ้น Baidu ปรับตัวพุ่งขึ้นทันที และส่งผลต่อธีมเทคโนโลยีจีน ตลาดหุ้นจีน หุ่นยนต์และ AI พลิกฟื้นสดใสทันควัน และมีโอกาสที่รัฐบาลจีนจะบล็อก ChatGPT เพราะอาจมองว่าเป็นภัยคุกคามในประเทศก็ได้ ซึ่งก็ต้องติดตามกระแสนี้กันต่อไป

อีกข่าวบวกที่หนุนหุ้นเทคฯ จีน คือบริษัทเทคโนโลยีจีนชื่อดัง ‘Tencent’ เจ้าตลาดเกมรายใหญ่ เตรียมจัดแข่งขันอีสปอร์ต ‘Valorant Esports League’ ในปีนี้ ซึ่งจะช่วยฟื้นคืนชีพให้กับอุตสาหกรรมเกมออนไลน์ในจีน หลังเคยสะดุดจากการที่รัฐบาลเข้ามาคุมเข้มเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งภาพที่ตอกย้ำว่า จีนผ่อนคลายการควบคุมตลาดเกม และเทคโนโลยีอย่างชัดเจน ทำให้มีการคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เกม อีสปอร์ต จะกลับมาเติบโตอีกครั้งในปีนี้

ความยิ่งใหญ่ของพญามังกรที่ได้ขึ้นเป็นผู้นำในเทคโนโลยีบางด้านของโลกไปแล้ว และเป็นลมใต้ปีก ที่ดันจีนไต่อันดับขึ้นเป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีของโลกอย่างเต็มตัวตามแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 14 กับนโยบาย Made in China 2025

ตลาดหุ้นจีนขาขึ้น ความเชื่อมั่นเริ่มฟื้น เงินทุนไหลเข้า อย่าตกขบวนรถ

ในภาพรวมตลาดหุ้นจีนช่วงต้นปีนี้ แม้จะมีการปรับขึ้นๆลงๆ ตามอารมณ์ตลาดที่มักเก็งกำไรระยะสั้น แต่หากดูปัจจัยพื้นฐานสำคัญตามที่ IMF ประเมินเศรษฐกิจจีนพร้อมกลับมาเติบโตเกิน 5% อีกครั้งในปีนี้ และเส้นทางการเป็นผู้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ผ่านอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ตอกย้ำว่าจีนมีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

ผมจึงมองว่า ความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นจีนเริ่มฟื้นตัวแล้ว และยังมีธีมเมกะเทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับหุ้นเทคโนโลยีจีนหลายตัว ซึ่งจีนมักเปิดตัวแรงมาก ฝั่งรัฐบาลก็พร้อมออกแรงสนับสนุนตลอด หากจีนรักษาความสม่ำเสมอแบบนี้เอาไว้ จะทำให้บรรลุเป้าการเติบโตในปีนี้และในระยะยาวได้ไม่ยากเลย

ส่วนความเสี่ยงของการลงทุนในตลาดหุ้น ผมยืนยันว่า การลงทุนโดยภาพรวมทั้งโลก ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนครอบคลุมอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ และยังมีคู่กรณีขัดแย้งอื่นที่พร้อมจะถูกดึงมาเป็นประเด็นเกี่ยวพันกดดันบรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นให้แกว่งตัวได้ตลอด เวลา

คุณคงอยากรู้ว่า แล้วทำไมผมถึงเชียร์ให้ลงทุนหุ้นจีน ยิ่งจีนเป็นคู่ชกหลักของสหรัฐฯ ทั้งปัญหากีดกันทางการค้า และภูมิรัฐศาสตร์

ผมให้คำตอบแบบนี้ครับ ทั้งคู่ยังคงสถานะเป็นคู่ชกคู่แค้นกันอยู่ยาวๆ ครับ และยังเป็นปัจจัยลบ ที่คอยกดดันบรรยากาศการลงทุนทั่วโลกและตลาดหุ้นของทั้งสองประเทศเหมือนเดิม

แต่ไม่ว่าทั้งคู่ ‘จีนและสหรัฐฯ’ จะเคียดแค้นแสนชังขัดแย้งกันมากแค่ไหน พวกเขาก็ยังต้องสวมหน้ากากทำการค้า การขายกันบนเวทีโลกอยู่ดี เข้าทำนองว่า ‘ถึงร้ายก็รัก…ตัดกันไม่ขาด’ ตอกย้ำด้วยตัวเลขเด็ดๆ ในปีที่แล้ว มูลค่าการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2565 Nikkei รายงานว่า มูลค่าการนำเข้า-ส่งออกระหว่างกันรวมแล้วกว่า 690,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามรายงานของ U.S. Bureau of Economic Analysis

โดยสหรัฐฯ ส่งออกสินค้าไปจีนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 153,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนมูลค่านำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นเป็น 536,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สอดคล้องกับความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ในปีที่แล้วสูงกว่าสถิติปี 2561 หรือสูงสุดในรอบ 4 ปี ทั้งๆ ที่ปี 2565 เป็นปีที่จีนประสบปัญหามาตรการ Zero Covid ฉุดเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่เศรษฐกิจในต่างประเทศกลับเติบโตแรงเกินคาด สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ทางการค้าของทั้งสองประเทศยังแข็งแกร่ง

สำหรับการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นจีนในช่วงที่ผ่านมา ดัชนี CSI 300 TR (หุ้นขนาดใหญ่ที่สุด 300 อันดับในจีน) ทำผลตอบแทนเฉลี่ยแบบทบต้น 6.98% ต่อปี ตลอดระยะเวลา 21 ปีที่มีการจัดทำดัชนีมาตั้งแต่ในปี 2545 ผลตอบแทนรวมอยู่ที่ 286%

ยิ่งไปกว่านั้น ดัชนี CSI 300 TR ได้ผ่านมรสุมทางเศรษฐกิจมามากมายแล้ว ทั้งวิกฤติซับไพรม์ สงครามการค้า การควบคุมหุ้นเทคโนโลยีจีน ปัญหาหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และมาตรการ Zero Covid แต่ตลาดหุ้นจีนก็ยังทำผลตอบแทนเป็นบวกให้แก่นักลงทุนได้อยู่ดี

ผมมองว่า น่าจะเป็นอีกข้อพิสูจน์ว่า ในระยะยาวแม้จะต้องเจอเหตุการณ์ที่ไม่ดีมากมาย แต่ดัชนี CSI 300 TR ที่เป็นศูนย์รวมหุ้นจีนยักษ์ใหญ่ก็ยังทำผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวก และเป็นขาขึ้นได้ในระยะยาวอยู่ดี

เพราะฉะนั้น หากคุณเป็นนักลงทุนสาย VI หรือเน้นคุณค่า ยึดถือหลักการ ของ Warren Buffett คัดเลือก ‘หุ้นพื้นฐานดี ราคาเหมาะสม’ เพื่อลงทุนระยะยาว

ผมอยากย้ำ ฤกษ์ดีของตลาดหุ้นจีนมาถึงแล้ว ได้เวลาเลิกรอ! ถ้าคุณชิงลงทุนตั้งแต่วันนี้ ก็จะมีช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยวผลตอบแทนได้มากกว่าคนอื่น ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการเปลี่ยนทิศของตลาดหุ้นนี่แหละครับ

อย่ามัวแต่จดๆ จ้องๆ หากเงินทุนต่างชาติไหลเข้าหุ้นจีนเมื่อไหร่ เมื่อนั้นตลาดหุ้นจีนวิ่งไป…ไม่รอคุณแล้ว จะกลายเป็นคุณตกขบวนรถแน่นอน