ตลาดลุ้นดัชนี PCE สหรัฐ กำหนดทิศนโนบายการเงินเฟด หนุนเงินบาทอ่อนค่าต่อ

จับตาค่าเงินบาท
REUTERS/ Athit Perawongmetha

แบงก์ประเมินกรอบเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 34.25-34.85 บาทต่อดอลลาร์ ตลาดรอดูตัวเลขดัชนี PCE และรายงานประชุมเฟด คาดเงินไหลออกตลาดหุ้น-บอนด์ต่อเนื่อง นับจากต้นปีถึงปัจจุบัน 34,000 ล้านบาท 

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 20-24 กุมภาพันธ์ 2566) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 34.25-34.85 บาทต่อดอลลาร์

โดยปัจจัยต้องติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทั้งในส่วนของตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ PCE หรือดัชนีราคาจากรายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (Personal Consumption Expenditure: PCE) ในเดือนมกราคม ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ โดย S&P Global (Manufacturing & Services PMIs) และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รวมถึงรายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) เพื่อประเมินมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และทิศทางนโยบายการเงินของเฟด 

เช่นเดียวกับฝั่งยุโรป โดยตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป ผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ของยูโรโซน และอังกฤษ นอกจากนี้ ตลาดจะรอจับตาสัญญาณเศรษฐกิจเยอรมนีผ่านดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (IFO Business Climate) และดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Survey)

นอกจากนี้ ตลาดจะรอติดตามภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) ทั้งนี้ ในฝั่งนโยบายการเงิน ตลาดจะรอติดตาม ผลการประชุมของธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) และ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK)  ซึ่งตลาดมองว่า ทั้งสองธนาคารกลางอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง เพื่อคุมให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงกลับสู่เป้าหมายให้สำเร็จ

Advertisment

“ธีมสำคัญที่มีผลกับตลาดในช่วงนี้ คือ การปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด และหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจออกมาดีกว่าคาด หรือ เงินเฟ้อสูงกว่าคาด ก็จะทำให้ ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลว่าเฟดอาจต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ”

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 13-17 ก.พ.66) พบว่า ตลาดหุ้นขายสุทธิราว 1,600 ล้านบาท และตลาดพันธบัตร (บอนด์) ขายสุทธิราว 15,000 ล้านบาท

โดยบรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบซื้อหุ้นไทยกลับ ทั้งนี้ แรงขายหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มชะลอลงได้บ้าง หลังดัชนี SET50 ได้ย่อตัวลงใกล้โซนแนวรับสำคัญ ซึ่งคาดว่าสัปดาห์หน้าหุ้นขายสุทธิ 5,000 นล้านบาท 

ขณะที่ตลาดบอนด์ ประเมินว่าแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มชะลอลงบ้าง หลังนักลงทุนต่างชาติได้ขายต่อเนื่อง จนสถานะล่าสุดเป็นฝั่งขายสุทธิกว่า -3.4 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี นักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่รีบกลับเข้ามาซื้อบอนด์ไทย จนกว่าจะเห็นสัญญาณการกลับมาแข็งค่าขึ้นที่ชัดเจนของเงินบาท หรือ บอนด์ยีลด์ระยะยาวมีการปรับตัวขึ้นอีกครั้ง (รอ Buy on Dip) คาดว่าสัปดาห์หน้าขายบอนด์สุทธิ 5,000 ล้านบาท 

Advertisment

“ต้องจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกก็จะมีผลกระทบต่อทิศทางตลาดการเงินในระยะสั้นได้ โดยหากผลประกอบการส่วนใหญ่ออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจกดดันให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะขายทำกำไรการปรับตัวขึ้นร้อนแรงของตลาดหุ้นได้”

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารประเมินกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 20-24 กุมภาพันธ์ 2566) เคลื่อนไหวอยู่ที่ 34.30-34.80 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยต้องติดตามรายงานประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และดัชนีราคาค่าใช้จ่ายบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (core PCE) เดือนมกราคมของสหรัฐฯ เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายเฟด อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาท อาจชะลอลง เนื่องจากตลาดได้ปรับคาดการณ์ดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับมุมมองของเฟดมากขึ้นแล้ว

ทั้งนี้ ในระยะกลาง ธนาคารยังมองว่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย โดยที่รายได้ภาคท่องเที่ยวจะช่วยประคองเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการซึมลงของภาคส่งออกตามทิศทางการค้าโลก

“เงินบาทอ่อนค่าในเดือนนี้ โดยคืนการแข็งค่าในปีนี้กลับไปหมด จากการที่ตลาดทบทวนคาดการณ์ดอกเบี้ยสหรัฐฯ สูงขึ้น หลังข้อมูลจ้างงาน เงินเฟ้อ และยอดค้าปลีก เดือนมกราคมของสหรัฐฯ สูงเกินคาด กระตุ้นกระแสเงินทุนไหลออก นักลงทุนปรับสถานะ ทำกำไรหลังจากเงินบาทในเดือนมกราคมแข็งค่าอย่างรวดเร็ว” ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยากล่าว