บาทอ่อนค่า หลังประธานเฟดส่งสัญญาณสู้เงินเฟ้อ

ค่าเงินบาท เงินบาท บทวิเคราะห์

เงินบาทอ่อนค่า หลัง “เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟดส่งสัญญาณสู้เงินเฟ้อ ระบุชัดภารกิจในการต่อสู้เงินเฟ้อของเฟดยังไม่สิ้นสุด และจำเป็นต้องคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไปอีกระยะหนึ่ง ขณะที่ปัจจัยในประเทศ รมว.คลังบอกแม้เงินเฟ้อชะลอตัวลง แต่ยังต้องติดตามตัวเลขกันเดือนต่อเดือน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 8 มีนาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/3) ที่ระดับ 35.09/11 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (7/3) ที่ระดับ 34.53/55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น หลังนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่าเฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับสูงกว่าที่เจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์ก่อนหน้านี้ เนื่องจากตัวเลขเศรษฐิจยังคงมีความแข็งแกร่ง “แม้ว่าเงินเฟ้อได้ชะลอตัวลง หลังจากแตะจุดสูงสุดในปีที่แล้ว แต่กระบวนการทำให้เงินเฟ้อลดลงสู่เป้าหมาย 2% ยังคงเป็นหนทางอีกยาวไกล และไม่ราบรื่น” นายพาวเวลล์กล่าว และเสริมว่า

ภารกิจในการต่อสู้เงินเฟ้อของเฟดยังคงไม่สิ้นสุด และเฟดจำเป็นที่จะต้องคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ถ้อยแถลงของนายพาวเวลล์บ่งชี้ว่า การที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในเดือนที่แล้ว อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ทั้งนี้ นายพาวเวลล์กล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐต่อสภาคองเกรสในสัปดาห์นี้ โดยกล่าวถ้อยแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันนี้ ก่อนที่จะกล่าวต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันพรุ่งนี้

นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายพาวเวลล์เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐและทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด ก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 21-22 มี.ค. ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือน ธ.ค. 2565 เจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยขั้นสุดท้ายที่ระดับ 5.1% แต่นักลงทุนคาดการณ์ที่ระดับ 5.25-5.50%

อย่างไรก็ดี นายพาวเวลล์ไม่ได้ระบุว่าอัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับสูงสุดที่ระดับใด และย้ำว่าการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะขึ้นอยู่กับการประชุมในแต่ละครั้ง รวมทั้งข้อมูลที่เฟดได้รับ โดยเฟดจะพิจารณาถึงผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่จะมีต่อเงินเฟ้อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเฟดจะไม่มีการกำหนดล่วงหน้าสำหรับทิศทางนโยบายการเงิน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อแบบเดือนต่อไป แม้ว่าจะเริ่มเห็นการชะลอตัวลงของเงินเฟ้อตั้งแต่เดือน ม.ค.66 ก็ตาม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลออกมาช่วยดูแลด้านต้นทุนไม่ให้เพิ่มขึ้นมากเกินไป โดยเฉพาะการตรึงราคาพลังงานที่ยังมีอยู่ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้อัตราเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลง

พร้อมระบุว่า หากเป็นไปตามประมาณการ อัตราเงินเฟ้อจะค่อย ๆ ปรับลดลงจนกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3% โดยคาดว่าปีนี้เงินเฟ้อเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ 3% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 35.04-35.19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ .5.05/07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/3) ที่ระดับ 1.0545/47 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (7/3) ที่ระดับ 1.0655/57 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เตรียมเสนอให้รัฐบาลต่าง ๆ ในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) กำหนดเป้าหมายลดการขาดดุลงบประมาณของตนเองในปี 2567

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้ประเทศสมาชิกหาแนวทางในการลดยอดขาดดุลและลดตัวเลขหนี้สินในประเทศของตนเอง EC ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) กำลังพยายามที่จะลดอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0529-1.0556 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0541/43 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (8/3) ที่ระดับ 137.45/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (7/3) ที่ระดับ 135.88/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดกำลังจับตาดูการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 9-10 มีนาคม 2565 ซึ่งถือเป็นการประชุมรอบครั้งสุดท้ายก่อนที่นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการคนปัจจุบันจะหมดวาระในเดือนเมษายนนี้ โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 137.07-137.91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 137.47/49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนจากสถาบัน ADP (8/3), ตัวเลขเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) ประจำเดือน ม.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (10/3) และตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือน ก.พ. (10/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -11.5/-11.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -11.3/-10.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ