ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้น้ำมันดิบที่ยังคงแข็งแกร่ง

+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบสามสัปดาห์ โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันดิบในสหรัฐฯ และยุโรปที่ยังคงแข็งแกร่ง รวมถึงซาอุดิอาระเบียที่ยืนยันว่าจะเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันอย่างต่อเนื่อง

+ ความต้องการใช้น้ำมันดิบในยุโรปยังคงได้รับแรงหนุนจากอากาศหนาวที่ให้โรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งเลื่อนเวลาในการปิดซ่อมบำรุงออกไป

+ รัฐมนตรีพลังงานซาอุดิอาระเบีย เผยว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในประเทศในไตรมาสแรกจะต่ำกว่าเพดานการผลิตที่ตกลงไว้ โดยปริมาณการส่งออกจะต่ำกว่า 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน

+ นอกจากนี้ ซาอุดิอาระเบียยังมีความหวังว่า ผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกจะพิจารณาในการขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตออกไป จากเดิมที่มีกำหนดสิ้นสุดในปลายปีนี้

Advertisment

+ บริษัทน้ำมันแห่งชาติลิเบีย ประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) แหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Feel กำลังการผลิต 70,000 บาร์เรลต่อวัน หลังเกิดเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันเบนซินสิงคโปร์สิ้นสุด ณ วันที่ 21 ก.พ. ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 5.6
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ อย่างไรก็ตาม ตลาดน้ำมันดีเซลยังคงถูกกดดันจากความต้องการใช้ที่ปรับตัวลดลง และอุปทานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากจีนที่โรงกลั่นน้ำมันต่างพากันเพิ่มกำลังผลิต

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 60 – 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

Advertisment

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 63-68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ก่อนหน้า หลังกำลังการกลั่นน้ำมันดิบสหรัฐฯ ได้ลดลงกว่า 1.7% มาอยู่ที่ 88.1% จาก 89.8% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งกำลังการกลั่นคาดจะปรับตัวลดลงอีกในเดือนมีนาคมตามฤดูกาลปิดซ่อนบำรุงของโรงกลั่นทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ รวมถึงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น

ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้นกว่า 52 แท่นจากต้นปี โดย Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 16 ก.พ. 61 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 1 แท่น มาอยู่ที่ 799 แท่น สอดคล้องกับกำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่ได้ปรับตัวสูงขึ้นเหนือ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน และมีแนวโน้มที่จะแตะระดับเหนือกว่า 11 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในสิ้นปีนี้