แบงก์ชง ธปท.ใช้เทคโนโลยีล้ำ สแกนม่านตา-เสียง-ลายนิ้วมือ

แบงก์พาณิชย์แห่ขอ ธปท. ไฟเขียวนำ “ไบโอแมทริกซ์-แมชีนเลิร์นนิ่ง” เข้าทดสอบใน “แซนด์บ็อกซ์” ผู้บริหารแบงก์ชาติแจง “ไบโอแมทริกซ์” ยกระดับยืนยันตัวตนเข้มงวด คาดใช้งานได้จริงภายในปี 2561 นี้ ชี้เทรนด์แบงก์หันใช้ “ปัญญาประดิษฐ์” ทำหน้าที่แทน “คอลเซ็นเตอร์” มากขึ้น

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ล่าสุดธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้เข้ามาหารือกับ ธปท.เพื่อขออนุญาตใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการพิสูจน์ตัวตน (biometrics) เช่น การสแกนม่านตา การสแกนลายนิ้วมือ จับสัญญาณเสียง เป็นต้น กับลูกค้าของธนาคาร เพื่อรองรับการทำธุรกรรมทางการเงินในอนาคต อย่างไรก็ดี หลังจากนี้ต้องให้ธนาคารพาณิชย์ทำหนังสือมายัง ธปท.อีกครั้ง เพื่อขอเข้าสนามทดสอบ (regulatory sandbox) อย่างเป็นทางการ

“เนื่องจากได้มีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการมาแล้ว ดังนั้นตอนนี้ก็รอแบงก์ยื่นหนังสือมาเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเข้าไปทดสอบใน sandbox ของ ธปท. เพราะทุกนวัตกรรมทางการเงินที่เป็นนวัตกรรมใหม่ที่แบงก์จะนำออกมาใช้ ต้องผ่าน sandbox ก่อนทุกครั้ง เพื่อให้เราดูความพร้อม ดูระบบ ดูเสถียรภาพ ก่อนที่นำออกไปใช้กับลูกค้าธนาคาร” นางสาวสิริธิดากล่าว

อย่างไรก็ดี เมื่อ biometrics เข้าสู่ขบวนการทดสอบใน sandbox เรียบร้อยแล้ว คาดว่า ธปท.จะมีการอนุญาตให้แบงก์นำระบบดังกล่าวไปใช้ได้ภายในปี 2561 นี้อย่างแน่นอน

นางสาวสิริธิดากล่าวอีกว่า การที่ธนาคารพาณิชย์มีแผนหันมาใช้ biometrics ในการพิสูจน์ตัวตนนั้น ถือเป็นการยกระดับการพิสูจน์ตัวตนที่เข้มงวดขึ้นมาอีกระดับ ซึ่งทำให้การพิสูจน์ตัวตนมีความแม่นยำมากขึ้น สำหรับนำไปใช้กับการทำธุรกรรมการเงินของลูกค้าในอนาคต ดังนั้น ธปท.จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อระบบธนาคารพาณิชย์โดยรวมที่จะนำระบบดังกล่าวไปใช้ประโยชน์

นอกจากนี้ยืนยันว่า การนำระบบ biometrics มาใช้ยืนยันตัวตน ไม่ได้เกิดจากการที่ความเสี่ยงของแบงก์เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะจากเหตุการณ์การสวมสิทธิ์บัตรประชาชนผู้อื่นไปเปิดบัญชีธนาคาร หรือเพราะความเสี่ยงทางเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเรื่องนี้เป็นแผนของธนาคารพาณิชย์ที่ต้องการใช้ระบบดังกล่าวอยู่แล้ว

นางสาวสิริธิดากล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกัน แบงก์ยังมีการขอนำ machine learning หรือ artificial intelligence (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์ เข้าทดสอบใน sandbox ด้วย เพื่อนำไปใช้ทำหน้าที่แทนคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งหลัง ๆ มานี้ ธปท.เริ่มเห็นแบงก์ให้ความสนใจ นำ AI เข้าไปทำหน้าที่นี้กันมากขึ้น

“การใช้ AI เข้าไปแทนคอลเซ็นเตอร์ เราเริ่มเห็นมากขึ้น แต่ก็คงต้องใช้ระยะเวลาสักพัก กว่าจะเห็น AI เข้ามาแทนที่คอลเซ็นเตอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการใช้ AI เข้ามาทำ ก็ต้องใช้การประมวลผล และการดึงข้อมูลสถิติในอดีตมาใช้ค่อนข้างเยอะ เพราะบางคำถามมีความซับซ้อน ดังนั้นต้องอาศัยการรวมรวบข้อมูลจากหลายแหล่ง อย่างไรก็ตาม ต่อไปเราก็ไม่จำเป็นต้องคุยผ่านคอลเซ็นเตอร์แล้ว เพราะหุ่นยนต์ก็สามารถตอบคำถามที่ซับซ้อนขึ้นได้ เพียงแค่กด 1 กด 2 ตามหมวดที่ต้องการ ซึ่งก็ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่แบงก์สนใจนำมาใช้กันมากขึ้น” นางสาวสิริธิดากล่าว