คุยกับซีอีโอ ‘ทิสโก้กรุ๊ป’ ดัน ‘สมหวัง’ สู้ศึกน็อนแบงก์

ศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์
สัมภาษณ์พิเศษ

กลุ่มทิสโก้ (TISCO) นับเป็นกลุ่มสถาบันการเงินที่นักลงทุนชื่นชอบ แม้ในแง่ธนาคารจะไม่ได้เป็นแบงก์ขนาดใหญ่ แต่ก็โดดเด่นในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นพอร์ตธุรกิจเช่าซื้อ ธุรกิจบริหารความมั่นคั่ง (wealth management) รวมถึงการจ่ายปันผลผู้ถือหุ้น นับเป็นโอกาสดีที่ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มทิสโก้ ที่มาฉายภาพแบงก์แห่งนี้ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

ธุรกิจยึด “กำไร-ความเสี่ยง”

“เรามีหลักการทำธุรกิจ (principle) มีหลักการในการดูความเสี่ยงและผลตอบแทน (risk & return) ถ้าทำได้ดี ก็จะมีquality of earnings (ความสามารถในการทำกำไร) ที่ดีต่อเนื่อง บริหารสร้างผลตอบแทนให้เหมาะสม เวลาที่เราจ่ายผลตอบแทนที่สูง ก็จะช่วยจำกัดการ downside risk (ความเสี่ยงด้านลบ) ของราคาหุ้นได้ และ upside (ส่วนเพิ่ม) เอง ก็เกิดจาก ROE (อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น) ที่สูงต่อเนื่อง อย่างปีล่าสุด เราก็จ่ายปันผลผู้ถือหุ้น 7.75 บาทต่อหุ้น ถ้าทำแบบนี้สม่ำเสมอ นักลงทุนก็สบายใจ” ซีอีโอทิสโก้กล่าวถึงหลักการทำธุรกิจของกลุ่ม

“ศักดิ์ชัย” กล่าวอีกว่า สิ่งที่พยายามบอกพนักงานเสมอ ก็คือ ทิสโก้ทำธุรกิจอยู่ใน 2 ส่วน คือ 1.อยู่ใน risk management business (ธุรกิจบริหารความเสี่ยง) และ 2.อยู่ใน service industry (อุตสาหกรรมบริการ) ซึ่ง risk management จะเป็นหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจการเงิน ดังนั้น หากเข้าใจ risk (ความเสี่ยง) และมีหลักการในการทำธุรกิจ บริการลูกค้าให้ดี จะเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนและเติบโตต่อไปได้

ดันจำนำทะเบียนรถ 1 แสน ล.

สำหรับทิศทางธุรกิจในปี 2566 นี้ หลังผ่านมาใกล้ครบไตรมาส “ศักดิ์ชัย” กล่าวว่า ถือว่าเป็นไปตามที่เป้าหมายที่วางไว้ เพียงแต่เริ่มเห็นความผันผวนของโลกมากขึ้น โดยในช่วงสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังคงมีความผันผวน ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก

ทิสโก้ยังเน้นการบริหารธุรกิจอย่างระมัดระวัง (prudent management) ซึ่งเป็น principle และเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จของกลุ่ม โดยมีธุรกิจ 3 เสาหลัก ได้แก่ ธุรกิจรายย่อย, ธุรกิจบริหารความมั่นคั่ง และธุรกิจขนาดใหญ่

ซึ่งแผนธุรกิจหลังจากนี้ 3-5 ปี จะปักหมุดเรื่องของ “growth story” โดยในส่วนของธุรกิจรายย่อย เน้นเติบโตผ่านบริษัท ไฮเวย์ จำกัด บริษัทย่อยของทิสโก้ ที่ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักยานยนต์ และจำนำทะเบียนรถ ภายใต้แบรนด์ “สมหวัง เงินสั่งได้” ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเช่าซื้อรถใหม่ถึง 4-5% ซึ่งสินเชื่อรถใหม่ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น อาจต้องชะลอการปล่อย เพราะมีโอกาสสูงที่จะขาดทุนในปีที่ 2, 3 และ 4

สำหรับการขยายสาขาสมหวังฯจะให้ครอบคลุมกว่า 800 อำเภอทั่วประเทศ เพื่อกระจายการเติบโตไปสู่ภาคชนบทมากขึ้น โดยถึงสิ้นปี 2566 นี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 650 สาขา ซึ่งแม้ว่าจะมีคู่แข่งหลายราย โดยเฉพาะกลุ่มน็อนแบงก์ที่ขยายสาขาไปค่อนข้างมากแล้ว แต่ทิสโก้มั่นใจว่าแข่งขันได้ ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สามารถคิดได้ต่ำกว่า เพราะต้นทุนที่ถูกกว่า และความเป็นธนาคารที่น่าเชื่อถือ ทั้งนี้ สมหวังฯคิดดอกเบี้ยอยู่ที่ 12-13% ต่ำกว่าตลาด 3-4%

“เรามีเป้าจำนำทะเบียนรถที่ 1 แสนล้านบาท ส่วนจะเป็นเบอร์อะไรในตลาด เราไม่ค่อยสนใจ เราไม่ค่อยบ้ามาร์เก็ตแชร์ แต่เรารักษา quality of earning ให้ดี มี return on liquidity ให้ดี ก็น่าจะเป็นหุ้นยั่งยืนได้ ผู้ถือหุ้นก็แฮปปี้ ซึ่งจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เรามีผู้ถือหุ้นมีอยู่ 7,000-8,000 คน ปัจจุบันมี 55,000 คนแล้ว ดังนั้น คนสนใจเรา ผมทำให้เขาผิดหวังไม่ได้ เพราะเขาหวังพึ่งพาเงินปันผล ก็ตรงกับสไตล์เรา ส่วนคนชอบเทรด ก็คงจะไม่เหมาะ”

“ศักดิ์ชัย” กล่าวอีกว่า ในส่วนธุรกิจรายใหญ่ เริ่มเห็นสัญญาณความต้องการสินเชื่อมากขึ้น โดยจะรุกเข้าไปในกลุ่มกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (property) และกลุ่มพลังงาน (energy) มากขึ้น

ปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ

“ศักดิ์ชัย” กล่าวด้วยว่า ทิสโก้ให้ความสำคัญกับ responsible lending (การปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ) โดยกำหนดสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ไม่เกิน 50% แต่ขึ้นอยู่กับระดับรายได้ของลูกค้าด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถผ่อนชำระหนี้จนครบและปิดบัญชีได้ ไม่เป็นหนี้ซ้ำไปเรื่อย ๆ ซึ่งนอกจากกำหนด DSR แล้ว ยังให้ความสำคัญกับการกำหนดวงเงินดาวน์ที่เหมาะสมกับมูลค่าหลักประกัน (LTV) ด้วย

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ธุรกิจเช่าซื้อทั้งระบบมีทิศทางเพิ่มขึ้น เพราะเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง บางเซ็กเมนต์ยังคงเปราะบางอยู่ ซึ่งต้องดูแลใกล้ชิด หากมีปัญหาก็ปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนมาตรการพิเศษช่วงโควิด-19 คิดว่ามีเพียงพอแล้ว แต่จะหยิบอะไรมาใช้ และดีกรีมากน้อยแค่ไหนเท่านั้น เช่น มาตรการคืนรถจบหนี้ ซึ่งในช่วงโควิดทิสโก้ได้ทำไปและมีคนเข้าโครงการราว 8,000 คัน

“เรามองว่าการปล่อยสินเชื่อแบบมีหลักการ DSR จะไม่สร้างภาระให้ระบบ เราไม่ชอบให้คนเป็นหนี้เพื่อให้ outstanding port เราสูงตลอดเวลา เพราะหนี้ครัวเรือนก็จะไม่ลดลงเสียที”

เกณฑ์กำกับใหม่กระทบรายได้

ส่วนการที่ธุรกิจเช่าซื้อถูกกำกับมากขึ้นนั้น “ศักดิ์ชัย” ให้ความเห็นว่า การกำหนดเพดานดอกเบี้ย จะมีผลกระทบกับเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ เนื่องจากที่ผ่านมา ตลาดคิดดอกเบี้ยอยู่ที่กว่า 30% ต่อปี แต่พอเหลือ 23% อาจจะกระทบโมเดลสกอริ่งของผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งจากเดิมสามารถนำคนที่มีความเสี่ยงระดับ 10 เข้าถึงสินเชื่อได้ ต่อไปอาจเหลือความเสี่ยงระดับ 7 ทำให้คนที่มีความเสี่ยงระดับ 8, 9 และ 10 ต้องไปนอกระบบ

ดังนั้น ภาพใหญ่ผู้ประกอบการจะต้องรอบคอบและรัดกุมขึ้น เช่น การหวังพึ่งพารายได้จากเบี้ยปรับ การตามหนี้ เบี้ยผิดนัดชำระจะหายไป เพราะทางการจะเข้ามาควบคุมไม่ให้เก็บเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระที่สูง เพราะสมัยก่อนค่า default rate คิดกัน MRR+10% กลายเป็นแหล่งรายได้ จากนี้ก็จะหายไปเยอะ ดังนั้น การปล่อยสินเชื่อจะต้องรอบคอบ เพราะค่าใช้จ่ายติดตามหนี้สูง แต่เก็บได้น้อย จะไม่คุ้มต้นทุน

“ธนาคารก็คงได้รับผลกระทบ จะว่าไม่ได้รับผลกระทบเลย ก็ใม่ใช่ เพราะเราก็มีรายได้จากการติดตามหนี้อยู่บ้าง ตอนนี้สัดส่วนหายไป เหลือไม่ถึงครึ่ง แต่ว่าแน่นอนไม่ใช่รายได้หลักที่ควรจะเป็น เพราะควรจะได้จาก interest rate (ดอกเบี้ย) หัก credit cost (ต้นทุนความเสี่ยง) มากกว่า”

เป้าลูกค้า Wealth 2 หมื่นราย

ซีอีโอทิสโก้กล่าวด้วยว่า จากเป้าหมายการเติบโตด้านสินเชื่อ ทำให้ในฝั่งเงินฝากก็ต้องโตสอดคล้องกัน โดยทิสโก้เน้นกลุ่มเป้าหมายลูกค้ามั่งคั่ง (wealth management) ที่มีเงินฝากและลงทุน (AUM) ตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 2 หมื่นราย เป็นกลุ่มที่มีความรู้เรื่องการลงทุน การประกัน และการบริหารพอร์ตลงทุน (portfolio management)

นอกจากนี้ การบริหารเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ทิสโก้มีความชำนาญ โดยเป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรม ทั้งในเชิง AUM และนายจ้างที่มีถึง 5,000 บริษัท ลูกจ้างเกือบ 7 แสนราย ซึ่งไม่ได้เน้นบริหารเงินอย่างเดียว