ดอลลาร์สหรัฐแนวโน้มดี กดดันค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง

ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (26/2) ที่ 31.38/40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/2) ที่ 31.45/47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายจอห์น วิลเลี่ยม ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก ได้แสดงความคิดเห็นว่า เฟดอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ถึง 3 หรือ 4 ครั้งในปี 2018 นอกจากนี้นักลงทุนยังจับตาแถลงการณ์รอบครึ่งปีต่อสภาคองเกรสสหรัฐในวันพรุ่งนี้ (27/2) ของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะเป็นการแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายการเงินเป็นครั้งแรกของเขาต่อรัฐสภาสหรัฐ โดยนักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายพาวเวล เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐ รวมทั้งทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ ซึ่งในวันพุธที่ผ่านมา (28/2) นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวแถลงการณ์ต่อสภาคองเกรสสหรัฐ โดยส่งสัญญาณว่าเฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ โดยเฟดมีแผนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี และอาจมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4 ครั้ง หลังจากมีการใช้มาตรการด้านการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งรวมถึงการปรับลดอัตราภาษี และการเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาล ทั้งนี้นายเจอโรม พาวเวล กล่าวว่า ไม่ได้มีความกังวลต่อภาวะผันผวนของตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยการแกว่งตัวอย่างรุนแรงของตลาดจะไม่มีผลกระทบต่อมุมมองของเขาที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้ โดยเขาคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐ ยังคงมีแนวโน้มที่แข็งแกร่ง และเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ในส่วนของค่าเงินบาท นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน ม.ค. 61 ว่า เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านอุปสงค์ที่ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 62 เดือน ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 61 ประเมินว่าจะยังขยายตัวได้ค่อนข้างดี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 67.0 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน และถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 34 เดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า คณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องและชัดเจนมากขึ้น โดยได้รับแรงส่งจากภาคต่างประเทศรวมท่ั้งอุปสงค์ในประเทศที่ทยอยปรับดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มีความเสี่ยงในบางจุดที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินในระยะต่อไป โดยคณะกรรมการได้พิจารณาถึงผลดีและผลกระทบของทางเลือกเชิงนโยบายต่าง ๆ (policy trade-offs) แล้วเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระบบปัจจุบันยังจำเป็นอยู่ เพื่อช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้แม้อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.25-31.60 บาท/ดอลลาร์ และปิดตลาดวันศุกร์ (2-3 ที่ระดับ 31.45/47 บาท/ดอลลาร์

สำหรับการเคลื่อนไหวสกุลเงินยูโร (26/2) เปิดตลาดที่ระดับ 1.2288/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/2) ที่ระดับ 1.2311/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (23/2) สำนักงานสถิติแห่งยุโรป เปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค ประจำเดือนมกราคม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.3% เท่ากับเดือนก่อนหน้า และเท่ากับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ นอกจากนี้สำนักงานสถิติแห่งเยอรมนี ได้เปิดเผยตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 4 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6% เท่ากับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ นอกจากนี้นักลงทุนยังจับตานายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งกำหนดที่จะเข้าแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจของรัฐสภายุโรป โดยนายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้ออกมาแสดงมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจยูโรโซน โดยเขายังมองว่าตลาดแรงงานกลับมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก แต่ยังคงต้องจับตาดูระดับเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด ขณะที่ค่าเงินยูโรยังคงได้รับแรงกดดันจากเรื่องการเลือกตั้งของอิตาลีที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 4 มีนาคมนี้ โดยพรรคการเมือง Five Star Movement (M5S) ที่มีแนวคิดในการแยกอิตาลีออกจากยูโรโซน อาจจะชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ จุดนี้เองที่สร้างความกังวลว่า อิตาลีมีความเสี่ยงในการที่จะออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของยูโรโซนได้ เนื่องจากอิตาลีมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของยูโรโซน รองจากเยอรมนีและฝรั่งเศส ประกอบกับผลสำรวจซึ่งจัดทำโดย Ifo สถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี ระบุว่า กลุ่มผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีคาดการณ์ว่า ยอดส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ จะลดลงต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 3 ทั้งนี้ ดัชนีคาดการณ์แนวโน้มการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งจัดทำโดย Ifo นั้นปรับตัวลดลงแตะที่ 14.8 จุด จากระดับ 16.5 จุด ในเดือนมกราคม โดยนายเคลเมนส์ ฟิวสท์ ประธาน Ifo กล่าวในรายงานว่า แม้สภาพเศรษฐกิจในยุโรปจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่การแข็งค่าของสกุลเงินยูโรเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก แต่อย่างไรก็ตาม สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.2% ในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 และต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 1.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 1.4% ในเดือนมกราคม ทั้งนี้ตลอดสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2158-1.2355 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดวันศุกร์ (2/3) ที่ระดับ 1.2279/81 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ในวันจันทร์ ค่าเงินเยนเปิดตลาดที่ระดับ 106.88/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (23/2) ที่ระดับ 106.86/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (23/2) กระทรวงสื่อสารและกิจการภายในประเทศของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารสด ปรับตัวขึ้น 0.9% ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากต้นทุนพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ดัชนี CPI พื้นฐานของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารญี่ปุ่น (BOJ) ที่ระดับ 2% นอกจากนี้ตัวเลขการผลิตรถยนต์ภายในประเทศชะอตัวลง ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นปรับลดการประเมินการผลิตภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ผลสำรวจความเห็นของกลุ่มผู้ผลิตในญี่ปุ่น ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมระบุว่า กลุ่มผู้ผลิตคาดว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 9% ในเดือนกุมภาพันธ์ และจะปรับตัวลดลง 2.7% ในเดือนมีนาคม โดยตลอดสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 105.69-107.68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดวันศุกร์ (2/3) ที่ระดับ 105.69/61 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

Advertisment

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้