แบงก์เร่งลดสาขา ปรับโฉม ปิดเคาน์เตอร์-ทำธุรกรรมไร้เงินสด

แบงก์เร่งลดสาขา

แบงก์แห่ลด-ปรับโฉม “สาขา” มุ่งตอบโจทย์โลกยุคดิจิทัล-บริการลูกค้าผ่านอุปกรณ์ไอทีสมัยใหม่ ตัวเลข ธปท.เผย 3 ปีสาขาแบงก์ทั้งระบบหายไปกว่า 800 แห่ง ขณะที่ปี 2566 แค่ 2 เดือนลดลงอีก 19 สาขา

“กรุงไทย” ลุยปรับโฉมสาขาใหม่ลดช่องทางบริการผ่าน “เคาน์เตอร์” หันใช้ “แท็บเลต” แทน นำร่อง 20 แห่ง ขณะที่ “ทีทีบี” ลุยทดลองสาขา “ไร้กระดาษ-เงินสด” 10 แห่ง ฟาก “กรุงศรีฯ” ปรับโฉมสาขาต่อเนื่องตามพฤติกรรมลูกค้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานจำนวนสาขาและจุดให้บริการของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ พบว่าแนวโน้มสาขาและจุดให้บริการของธนาคารพาณิชย์ปรับลดลงต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุด ณ เดือน ก.พ. 2566 อยู่ที่ 5,667 สาขา ลดลง 19 สาขา จากเดือน ธ.ค. 2565 ที่อยู่ที่ 5,686 สาขา และย้อนไปในช่วง 3 ปี จะพบว่าลดลงถึง 804 สาขา โดยเฉพาะ 6 ธนาคารที่มีขนาดใหญ่ลำดับแรก ๆ พบว่าในช่วง 3 ปี ธนาคารกรุงเทพ จำนวนสาขาและจุดให้บริการปรับลดลงสูงสุด 240 สาขา

รองลงมา ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ปรับลดลง 58 สาขา ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับลดลง 54 สาขา ธนาคารกสิกรไทย ปรับลดลง 41 สาขา ธนาคารกรุงไทย ปรับลดลง 31 สาขา ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) ปรับเพิ่มขึ้น 111 แห่ง ในช่วงที่มีการควบรวม แต่ถึงปัจจุบันก็มีการลดลงอีก

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า กรุงไทยมีแผนยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2570 โดยมุ่งขับเคลื่อนองค์กรสู่โลกดิจิทัลและการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญคือ ขับเคลื่อนประสิทธิภาพองค์กรด้วยดิจิทัลและข้อมูล และการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาใช้ในกระบวนการทำงานภายในของธนาคารมากขึ้น ซึ่งภายในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ธนาคารจะปรับรูปแบบสาขาใหม่ เน้นพนักงานให้บริการผ่านแท็บเลต ซึ่งลูกค้าสามารถทำธุรกรรมได้เอง และจบการทำธุรกรรมบนแท็บเลตของพนักงาน

Advertisment

นอกจากนี้ ต่อไปสาขาจะไม่มี high counter (ช่องบริการรับฝาก-ถอน ชำระค่าสินค้าบริการ-เงินกู้ เป็นต้น) และ low counter (ช่องบริการการเปิดบัญชี เป็นต้น) โดยเฉพาะ high counter จะต้องลดลงตามปริมาณธุรกรรมการถอนเงินของลูกค้า และจะเปลี่ยนช่องทางการให้บริการลูกค้ารายย่อยสู่บริการผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SSMEs และ SMEs มากขึ้น ทั้งนี้ จะนำร่องรูปแบบสาขาใหม่ 20 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่

“การเปิด-ปิดสาขายังคงมีอยู่ แต่ชะลอตัวลง เนื่องจากกรุงไทยยังคงต้องตอบโจทย์สังคม แม้ว่าสาขานั้นจะไม่มี profit เลย แต่ในพื้นที่ตั้งสาขาระยะห่าง 4 กิโลเมตรไม่มีสาขาธนาคารไหนให้บริการเลย เรายังคงต้องเปิดไว้ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ส่วนเรื่องของคน คือหัวใจสำคัญของธนาคาร ซึ่งต่อไป turn over ของคนจะอยู่บน talented digital”

นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ทีทีบี กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ภายในไตรมาส 3/2566 นี้ ธนาคารจะทดลองปรับเปลี่ยนรูปแบบสาขา “ที่ไม่ใช้กระดาษและเงินสด” และขนาดพื้นที่ของสาขาจะปรับขนาดให้เล็กลง และเน้นใช้เครื่องอัตโนมัติมากขึ้น เนื่องจากการเก็บข้อมูลพบว่าลูกค้าประมาณ 70-80% ที่มาทำธุรกรรมที่สาขาส่วนใหญ่จะเป็นบริการชำระค่าบิลต่าง ๆ และเป็นบิลชำระของธนาคารเอง ซึ่งมองว่าธุรกรรมเหล่านี้สามารถทำได้บนโมบายแบงกิ้ง หรือเครื่องอัตโนมัติได้

นายฐากร ปิยะพันธ์

Advertisment

อย่างไรก็ดี กรณีลูกค้าที่ต้องการเบิกถอนเงิน อาจจะมีการจองคิวล่วงหน้าบนโมบายแบงกิ้ง และระบบจะแจ้งลูกค้าว่าสามารถทำธุรกรรมที่สาขาไหนและเวลาไหนได้

ทั้งนี้ ธนาคารจะเริ่มทยอยทดลองสาขารูปแบบใหม่ดังกล่าวจำนวน 10 แห่ง โดยจะเน้นในพื้นที่กรุงเทพฯ ก่อน และเน้นสาขาที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน (office) หรือสาขาเดี่ยว ๆ ริมถนน (stand alone) และจะมีการประเมินผลตอบรับภายใน 3-6 เดือน หากผลตอบรับดีจะขยายพื้นที่ทดลองเพิ่มเติม โดยรูปแบบสาขาใหม่จะช่วยธนาคารประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อสาขาลงกว่า 50%

“สาขาทดลองใหม่นี้จะเป็นการปรับพฤติกรรมไปพร้อมกับลูกค้า ขณะที่สาขาปกติของธนาคารก็ยังคงมีอยู่ แต่การปรับเปลี่ยน เปิด และปิด หรือโยกย้ายสถานที่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกปี ซึ่งปีนี้จำนวนสาขาน่าจะเหลือประมาณ 540 แห่ง จากปัจจุบันอยู่ประมาณ 560 แห่ง ส่วนพนักงานก็เวียนไปทำงานด้านอื่น และก็มีบางส่วนที่ลาออกเป็นปกติทุกปี”

นายพงษ์อนันต์ ธณัติไตร ประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบสาขาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าที่ปรับเปลี่ยนไป เช่น รูปแบบสาขาที่เน้นเรื่องของดิจิทัล ธนาคารจะมีสาขา “smart branch” ที่สยามพารากอน หรือ “auto lobby” จะเน้นตอบโจทย์ลูกค้าผ่านการทำธุรกรรมบนเครื่องอัตโนมัติ ฝาก ถอน โอน จ่าย รวมถึงยังมี smart teller machine ซึ่งลูกค้าสามารถเปิดบัญชีและออกบัตรเดบิตได้ด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ ธนาคารยังเน้นการเป็น financial advisory ที่มีทักษะ ความรู้ และความเชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาทางการเงินกับลูกค้า และใส่เครื่องมือทางเทคโนโลยีเข้าไป เพื่อให้ลูกค้ามีประสบการณ์ที่ดี รวมถึงมี advisory center ไว้ให้บริการลูกค้าอีกด้วย