ธปท.เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ ชี้ เงินเฟ้อจ่อเพิ่มปลายปีตามอุปสงค์ฟื้นตัว 

ธปท.

ธปท.ส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หลังขึ้น 6 ครั้งติดต่อสู่ 2.00% ต่อปี ชี้ ดอกเบี้ยต่ำนาน ช่วยกระตุ้นระยะสั้น แต่สูญเสียจีดีพีระยะยาว ย้ำเงินเฟ้อกลับเข้ากรอบ แต่ยังเสี่ยงเพิ่มขึ้นปลายปีจากแรงกดดันอุปสงค์ฟื้นตัวตามภาคการท่องเที่ยว ยันดอกเบี้ย ไม่ใช่ตัวหนุนให้เกิดหนี้เสีย-SM ทะยาน มองธุรกิจเช่าซื้อแข่งขันสูง แบงก์ผ่อนคลายปล่อยกู้สินเชื่อ พร้อมประเมินเศรษฐกิจไทยยังโตต่อเนื่อง ท่องเที่ยว-บริโภคหนุน ส่งออกทยอยฟื้นตัว 

วันที่ 14 มิถุนายน 2566 นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน “Monetary Policy Forum ครั้งที่ 2/2566” ว่า การพิจารณาการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป จะพิจารณาตามข้อมูลทั้งหมด หากมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย เช่น เศรษบกิจร้อนแรงจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้น

นายปิติ ดิษยทัต
นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

แต่หากข้อมูลต้องการสนับสนุนก็ต้องรักษาสมดุลของอัตราดอกเบี้ยในระดับ Neutral Interest Rate ไว้ อย่างไรก็ดี หากเศรษฐกิจยังคงเป็นไปตามที่กนง.มองไว้ นโยบายการเงินจะต้องเข้าเป้าหมาย 3 ด้าน ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงิน

“การตัดสินใจ Action แต่ละรอบจะดูจากข้อมูล ซึ่งแนวนโยบายที่ดำเนินมาถึงจุดนี้ กนง.มองว่ายังเป็นสิ่งที่เหมาะสม ขณะเดียวกันเห็นว่ายังมีเวลาอีก 1 เดือนครึ่งก่อนที่จะมีการประชุม กนง.รอบถัดไปในเดือน ส.ค. ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ก็จะมีข้อมูลอื่น ๆ เข้ามาเพิ่มเติมได้อีก และพิจารณาดูผลกระทบระยะ Medium Term เป็นสำคัญ”

ขึ้นดอกเบี้ยต่อรักษาระบบการเงินระยะยาว

นายภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เป้าหมายการดำเนินนโยบายการเงินต้องการประคับประคองเศรษฐกิจสู่ระดับศักยภาพ เงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบและดำรงอยู่อย่างยั่งยืน

แม้ว่าปัจจุบันเงินเฟ้อจะกลับเข้ากรอบ แต่ ธปท.ยังคงต้องมองไปข้างหน้าเพื่อให้เงินเฟ้ออยู่อย่างยั่งยืน โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 6 ครั้งติดต่อกันจากระดับ 0.50% ต่อปี ในเดือน ส.ค. 65 มาสู่ระดับ 2.00% ต่อปีในการประชุมล่าสุด

โดยในรระยะต่อไปตาม Statement ได้ระบุว่า คณะกรรมการเห็นควรปรับดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับเหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป (Gradual and Measured)

ซึ่งระดับดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจอย่างมีสถียรภาพ หรือ Neutral Interest Rate : R* จะต้องเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ “เป็นกลาง” ต่อระบบเศรษฐกิจ ไม่ผ่อนคลายหรือตึงตัว และต้องรักษาเสถียรภาพระยะยาว ตลอดจนความจำเป็นในการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดหรือผ่อนคลายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นายภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล

ทั้งนี้ กนง.ไม่สามารถบอกได้ว่าดอกเบี้ยจะเข้าสู่ระดับปกติ (Normalization) จะอยู่ที่ระดับเท่าไร แต่ค่าเฉลี่ยการเติบโตของจีดีพีของไทยอยู่ที่ 3% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Interest Rate) อย่างน้อยจะต้องเป็นบวก

ซึ่งการคำนวณดอกเบี้ยที่แท้จริงดูหลายตัว ทั้งอัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ย 10 ปี เป็นต้น โดยในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ดอกเบี้ยที่แท้จริงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง และช่วงโควิด-19 ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.50% ต่อปี ถือว่าต่ำเป็นประวัติการณ์ ดังนั้น หากเทียบเงินเฟ้อทั่วไป ดอกเบี้ยที่แท้จริงจะเป็นบวก และเทียบเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงติดลบ

อย่างไรก็ดี หากดูพัฒนาการในหลายมิติยังเป็นไปตามคาด การส่งผ่านของสถาบันการเงินยังสอดคล้องกับการเข้าสู่ระดับ Normalization และหากดูการคาดการณ์เศรษฐกิจตั้งแต่ปรับดอกเบี้ยนโยบายการเงินยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง โดยทุกอย่างยังเป็นไปตามเป้าหมาย (on track) ดังนั้น การขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับเหมาะสมเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

“ดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง แต่อาจจะเกิดความไม่นิ่งของระบบการเงิน ซึ่งสามารถช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยได้ แต่ระยะยาวจะสูญเสียจีดีพีระยะยาวและอาจเกิด Crisis ได้ ดังนั้น เราไม่ได้ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจมาก แต่ต้องการรักษาระบบการเงินระยะยาว”

เงินเฟ้อยังเสี่ยงเพิ่มขึ้นปลายปี

นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3% โดยปรับลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่อยู่ 2.9% มาอยู่ที่ 2.5% และปี 2567 อยู่ที่ 2.4% ตามแรงกดดันด้านอุปทานที่มีแนวโน้มลดลงตามค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันในประเทศ แต่ราคาอาหารสดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน แม้ว่าจะปรับลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่อยู่ 2.4% มาอยู่ที่ 2.0% และในปี 2567 ทรงตัวที่ 2.0% แม้ปรับลดลวแต่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับอดีต และลดลงช้าเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป

และมองว่าเงินเฟ้อพื้นฐานมีความเสี่ยงด้านสูงจากการส่งผ่านมากขึ้นจากต้นทุนที่ยังไม่ได้ส่งผ่าน และมีมทิศทางปรับเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จากภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลต่ออุปสงค์ที่ฟื้นตัวตามจะเป็นแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น รวมถึงนยาบการปรับโครงสร้างพลังงาน จึงเป็นความเสี่ยงด้านสูงมากกว่าด้านต่ำ

“เงินเฟ้อเดือน พ.ค.ที่ออกมา 0.53% มาจาก 2 สาเหตุ คือ การ Subsidy ค่าไฟฟ้ามากกว่าปกติ และเรื่องของฐานที่สูง ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิค อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปในเดือน มิ.ย.เงินเฟ้ออาจจะกระเด้งขึ้นได้ แต่ยังคงทรงตัวจากฐานที่สูงในปีก่อน และจะปรับสูงขึ้นช่วง H2/66 จากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวมากขึ้น และหากราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกราว 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล”

“หรือประมาณ 10% อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีปรับเพิ่มขึ้นได้อีก 0.50% จากระดับที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้น ประมาณการอัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงด้านสูงโดยเฉพาะในปี 2567”

เช่าซื้อแข่งขันสูงหนุนแบงก์ผ่อนคลายปล่อยกู้

นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มตัวเลขสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ค้างชำระไม่เกิน 90 วันของสินเชื่อเช่าซื้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และสร้างความกังวลที่อาจจะตกชั้นเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) นั้น

มองว่า ผลจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (RP) ต่อความสามารถในการชำระหนี้ ประเมินว่า ดอกเบี้ย เป็นหนึ่งในปัจจัยเท่านั้น ซึ่งเป็นตัวที่กำหนดการขยายตัวสินเชื่อ และคุณภาพสินเชื่อ

ทั้งนี้ หากดูสินเชื่อเช่าซื้อในช่วงที่ผ่านมามีการแข่งขันค่อนข้างสูง ทำให้การประเมินเครดิตและการชำระหนี้ในภาวะการแข่งขันสูงอาจจะมีช่องว่างหรือผ่อนลงได้

ขณะเดียวกัน หากดูการขยายสินเชื่อ จะพบว่าในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ธนาคารพาณิชย์มีการร่วมมือกับ ธปท.ในการปล่อยสินเชื่อค่อนข้างเยอะ ซึ่งในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ประกอบกับยอดสินเชื่อคงค้างในระบบยังอยู่สูงจากในช่วงโควิด-19 ทำให้ธนาคารไม่ได้เร่งปล่อยสินเชื่อ

และธุรกิจรายใหญ่เองก็หันไประดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ หุ้นกู้ และก่อนหน้านี้มีสถาบันการเงินโอนพอร์ตธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลไปให้บริษัทลูกค้า รวมถึงการชำระหนี้คืนจากซอฟต์โลน ส่งผลให้ภาพรวมสินเชื่อทั้งระบบชะลอตัวลง

“หากเราลงลึกของผลกระทบจากดอกเบี้ยต่อความต้องการสินเชื่อลดลง สิ่งที่เกิดขึ้น กรณีที่ดอกเบี้ยขึ้น หากธุรกิจไม่จำเป็นต้องการสภาพคล่อง หรือสภาพคล่องเหลือ จึงมีการคืนสินเชื่อ ไม่ใช่ดอกเบี้ยขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจไม่มีปัญญาในการกู้ เพราะดอกเบี้ยแพง”

ดอกเบี้ย ไม่ใช่ปัญหาหนี้ตกชั้นเพิ่ม

นายสักกะภพกล่าวเสริมว่า ในช่วง 2-3 ปีไทยเผชิญวิกฤตจากโควิด-19 ทำให้สถาบันการเงินมีมาตรการช่วยเหลือออกมาช่วยลูกหนี้ ทำให้แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปรับลดลง โดยในไตรมาสที่ 1/2566 เอ็นพีแอลปรับลดลงจากไตรมาสก่อนหน้ามาอยู่ที่ราว 2.6% อย่างไรก็ดี

ยอมรับว่ามีบางจุดที่ตัวเลขปรับเพิ่มขึ้น เช่น สินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ของเช่าซื้อเร่งขึ้น แต่ยังน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4/2565 ซึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการของธนาคารพาณิชย์

นาย สักกะภพ พันธ์ยานุกูล
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

อย่างไรก็ตาม ธปท.ให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางที่อาจได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในแต่ละครั้ง ส่งผลให้ ธปท.มีการพิจารณาการปรับขึ้นครั้งละ 0.25% ต่อปี เพื่อประคองไม่ให้กลุ่มเปราะบางมีความเดือนดร้อนมากเกินไป แต่ในขณะเดียวกัน ในภาวะดอกเบี้ยอัตราต่ำ จะเป็นการสนับสนุนให้การปล่อยสินเชื่อง่ายเกินไป ซึ่งอาจกลับมาเป็นหนี้เสียในอนาคตได้

ทั้งนี้ หากดูผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อรายสัญญา จะพบว่า สินเชื่อสัญญาเก่ายังคงได้รับอานสงส์ดอกเบี้ยต่ำ สะท้อนผ่านอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Effective Rate) ที่อยู่ในระดับต่ำ แต่หากดูสัญญาสินเชื่อใหม่ภายใต้ดอกเบี้ยขาขึ้น ยอมรับว่าดอกเบี้ยจะปรับเพิ่มขึ้น แต่หากดูรายสินเชื่อพบว่า สินเชื่อเช่าซื้อจะเป็นสินเชื่อดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) แต่สินเชื่อที่อยู่อาศัยอาจจะต้องมีความระมัดระวังเพิ่มขึ้น

ท่องเที่ยว-บริโภคหนุนเศรษฐกิจไทยโตเทียบก่อนโควิด

นายสักกะภพกล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากตัวเลขจริงในไตรมาสที่ 1/2566 โดย ธปท.ยังคงคาดการณ์เดิมในปีนี้ที่ระดับ 3.6% และปี 2567 ที่ 3.8% โดยมาจากแรงส่งภาคการท่องเที่ยวปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 29 ล้านคน และปีหน้า 35.5 ล้านคน

และการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 4.4% และขยายตัวต่อเนื่องในปี 2567 ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จากประมาณเดิม -0.7% มาอยู่ที่ -0.1% และคาดว่าการส่งออกไทยจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ที่ระดับ 3.6% ในปี 2567

ทั้งนี้ หากดูภาคการท่องเที่ยวจะเห็นได้ว่ามีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง จำนวนนักท่องเที่ยวไตรมาส 1 ปีนี้ มากกว่าที่คาดไว้ในเกือบทุกสัญชาติ โดยเฉพาะในอาเซียน เช่น มาเลเซีย รวมถึงยุโรป และคาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะทยอยกลับมามากขึ้นในเดือน ต.ค.ตามการเพิ่มขึ้นของอุปทานเที่ยวบิน โดยคาดว่าทั้งปีจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนอยู่ที่ 5-6 ล้านคน ซึ่งจะเป็น Up side Risk ได้

“โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด-19 ซึ่งปัจจัยที่เป็นตัวสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือ จำนวนนักท่องเที่ยวมีมากกว่าที่คาดไว้ และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่มากกว่าที่คาด ขณะที่ยังมีปัจจัยเสี่ยง คือ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาด และความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ”