สถาบันคุ้มครองเงินฝากเชียร์เจียดเงินช่วยเอสเอ็มอี

สคฝ.หนุนคลังแก้ พ.ร.บ.สสว.เจียดเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝากเข้า “กองทุน สสว.” หวังนำไปใช้แก้ปัญหาหนี้เสียเอสเอ็มอีไม่ให้ลุกลามจนกระทบระบบแบงก์ แจงแบ่งเงินไปแค่ปีละ 100 ล้านบาทไม่มีปัญหา-แบงก์ไม่มีภาระเพิ่ม ฟาก สนช. ลุยแก้ พ.ร.บ.ธปท. ต่ออายุ-เพิ่มบทบาทกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ฉบับที่…) พ.ศ. …ในช่วงระหว่างวันที่ 9-25 มี.ค.นั้น เรื่องดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่อจัดหาแหล่งเงินทุนให้แก่ทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำไปใช้ดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอี แต่จะใช้อย่างไรบ้าง รายละเอียดขึ้นอยู่กับทางกระทรวงอุตสาหกรรม

“ทาง สศค. เสนอแก้ไขกฎหมาย โดยจัดให้มีเงินนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยแบ่งมา 0.001% ต่อปีของยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝาก จากเงินที่ธนาคารพาณิชย์ต้องนำส่งเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากอยู่ 0.1% ต่อปี” นางสาวกุลยากล่าว

ทั้งนี้ การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สสว. ดังกล่าว มีสาระสำคัญ ประกอบด้วย 1) เพิ่มประเภทเงินนำส่งเข้ากองทุน สสว. 2) กำหนดหลักเกณฑ์ให้สถาบันการเงินนำส่งเงินและเงินเพิ่มเข้ากองทุน สสว. และ 3) เพิ่มประเภทการใช้จ่ายของเงินกองทุน สสว. ขณะที่การนำเงินกองทุน สสว. ไปใช้ได้มีการเพิ่มเติมให้ใช้จ่ายเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เป็นลูกหนี้และมีปัญหากับสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะประธานสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแบ่งเงินนำส่งไปจากกองทุนคุ้มครองเงินฝากในอัตรา 0.001% ถือน้อยมาก แค่ราว 100 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น จากปกติที่กองทุนคุ้มครองเงินฝากจะได้รับเงินนำส่งปีละ 1,000-2,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีเงินกองทุนสะสมแล้วกว่า 100,000 ล้านบาท แถมทาง สคฝ.เพิ่งแก้ไขกฎหมายใหม่ ทำให้สามารถระดมทุนมาใช้ในกรณีเกิดปัญหากับสถาบันการเงินได้ จึงไม่มีปัญหาเรื่องเงินไม่เพียงพอ

“เงินที่แบ่งไปน้อยมาก ไม่ได้ส่งผลกระทบกับกองทุนคุ้มครองเงินฝาก เพราะทาง สคฝ.เห็นด้วยกับหลักการที่จะนำเงินไปสนับสนุนเอสเอ็มอี เพื่อเป็นการช่วยเหลือเอสเอ็มอีก่อนที่จะเป็นหนี้เสีย (NPL) หรือเป็นหนี้เสียแล้วก็ตาม จะได้ไม่ลุกลามเป็นปัญหากับสถาบันการเงิน ซึ่งกองทุนก็จะมีคณะกรรมการกองทุนช่วยดูแลการนำเงินไปใช้ช่วยเอสเอ็มอีด้วย” นายกฤษฎากล่าว

นายกฤษฎากล่าวอีกว่า ก่อนที่จะมีการเสนอเรื่องนี้ ได้มีการหารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทยเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางสมาคมก็เห็นด้วยกับหลักการ เนื่องจากแบงก์ไม่ได้มีภาระเพิ่ม ยังคงนำส่งเงิน 0.47% เท่าเดิม โดยแบ่งเป็น นำส่ง 0.46% เข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน อีก 0.009% จะนำส่งเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝาก และอีก 0.001% นำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ขณะที่ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อยู่ระหว่างพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ. ธปท. ในบทบัญญัติที่เกี่ยวกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ โดยเป็นการต่ออายุกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และเพิ่มบทบาทในการเข้าไปช่วยแก้ปัญหากรณีสถาบันการเงินเกิดวิกฤต เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อระบบโดยรวมของประเทศ อย่างไรก็ดี ยืนยันว่า ปัจจุบันสถาบันการเงินของไทยถือว่ามีความแข็งแกร่ง