ค่าบาททรงตัว ก่อนการประชุมเฟด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 21 มีนาคม 2561 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 31.21/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อย จากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (20/3) ที่ระดับ 31.17/19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยทางกระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 โดยการส่งออก มีมูลค่า 21,365 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10.3% จากตลาดคาดว่าจะขยายตัวราว 9.25% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 19,557 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 16% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 807 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 61 การส่งออกมีมูลค่า 40,466 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 13.8% และด้านนำเข้ามีมูลค่า 39,778 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 20.1% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 688.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า เรื่องเงินบาทแข็งค่า เริ่มส่งผลกระทบต่อรายได้ผู้ส่งออกไทยในรูปของเงินบาทให้ลดลงไปบ้าง แต่ยังไม่กระทบความสามารถในการแข่งขันมากนัก เพราะสินค้าไทยยังมีความต้องการสูง แม้จะมีราคาแพงขึ้น ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์จะจับตาสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตร และอาหาร นอกจากนี้ตลาดการเงินทั่วโลกจับตาผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ท่ามกลางกระแสคาดการณ์เป็นวงกว้างว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ โดยทาง CME Group ระบุว่า จากการใช้เครื่องมือ FedWatch วิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ พบว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่ามีโอกาส 94.4% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกในปีนี้ และมีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในเดือนมิถุนายน และครั้งที่ 3 ในเดือนกันยายน ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 31.21-31.24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 31.22/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (21/3) เปิดตลาดที่ระดับ 1.2256/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (20/3) ที่ระดับ 1.2335/37 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลง เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น จากการที่นักลงทุนคาดว่าเฟดจะมีปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมคืนนี้ (21/3) โดยธนาคารกลางสเปนประกาศปรับตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ โดยระบุว่าเศรษฐกิจมีการขยายตัว 2.7% ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ธนาคารกลางยังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะขยายตัว 2.3% ในปี 2562 และ 2.1% ในปี 2563 โดยปรับเพิ่มขึ้น 0.2% และ 0.1% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ล่าสุด โดยธนาคารกลางระบุว่า เศรษฐกิจสเปนปรับตัวดีกว่าคาด โดยได้แรงหนุนจากการส่งออก สถานการณ์ทางการเมือง และนโยบายงบประมาณ นอกจากนี้อุปสงค์ในประเทศจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การจ้างงานจะเพิ่มขึ้น  2.7% ในปีนี้ และเพิ่มขึ้น 2% ในปี 2562 และ 1.9% ในปี 2563 ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวค่อนข้างผันผวนอยู่ในช่วงระหว่าง 1.2250-1.2291 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.2279/80 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (21/3) เปิดตลาดที่ระดับ 106.47/48 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (20/3) ที่ระดับ 106.24/25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ เห็นพ้องที่จะจัดการประชุมไตรภาคีในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้คาดว่าอาจจะเป็นวันที่ 8-9 พฤษภาคม การประชุมครั้งนี้จะจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น โดยนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น จะร่วมพูดคุยในประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ร่วมกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนทและนายมูน แจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ รายงานระบุว่าในการประชุมไตรภาคีครั้งนี้ คาดว่านายชินโซ อาเบะ จะร่วมพูดคุยกับนายหลี เค่อเฉียง เกี่ยวกับแผนการเดินทางเยือนจีน และพูดคุยร่วมกับนายมูน แจอิน เกี่ยวกับประเด็นรูปปั้นที่เป็นสัญลักษณ์การกดขี่สตรีเกาหลีในสมัยสงครามโลก ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 106.24-106.52 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 106.30/32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสองสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (21/3) ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเยอรมนี เดือนมีนาคม (22/3) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (22/3) อัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่น เดือนกุมภาพันธ์ (23/3) ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (23/3)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -3.65/-3.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7.50/-7.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ