ธปท.-สมาคมแบงก์ ยันลดดอกเบี้ยช่วยลูกหนี้เรื้อรังหลุดพ้นวงจรหนี้

ธปท. สมาคมแบงก์ แก้หนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย เร่งถกหาข้อสรุปมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน ย้ำลดดอกเบี้ยเป็นแค่ช่องทางหนึ่งให้หลุดวงจรหนี้ พร้อมเร่งสร้างรายได้ 

วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ตอนนี้ ธปท.อยู่ระหว่างการหารือสถาบันการเงินทั้งหมดในเรื่องของการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน ทั้งหนี้เสีย หนี้เรื้อรัง และหนี้ใหม่ ซึ่งคาดว่าความชัดเจนและรายละเอียดของมาตรการต่าง ๆ จะออกมาภายในเร็ว ๆ นี้

“การลดดอกเบี้ยให้ลูกหนี้เป็นเพียงทางออกอีกทางหนึ่งในการแก้ปัญหาหนี้ แต่จะต้องมีองค์ประกอบด้านอื่นด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างพูดคุยกันกับแบงก์และจะมีมาตรการออกมาเป็นรูปธรรมมากขึ้น”

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย (TBA) เปิดเผยว่า แนวทางกานแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้น สมาคมธนาคารไทยเห็นด้วยตามกรอบการแก้ปัญหา ทั้งในส่วนของการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) การคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยง (Risk Based Pricing) และมาตรการ Macroprudential Policy โดยภายในเร็ว ๆ นี้น่าจะมีข้อมูลและการสรุปออกมาชัดเจนมากขึ้น

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย (TBA)

อย่างไรก็ดี การปรับลดอัตราดอกเบี้ยถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะการแก้ปัญหาลูกหนี้ในกลุ่มเรื้อรัง จะต้องมีเครื่องมือที่พร้อมควบคู่กับการปล่อยสินเชื่อใหม่อย่างรับผิดชอบ และไม่นำไปสู่การก่อหนี้เพิ่ม โดยจำเป็นจะต้องมีตัวชี้วัดชัดเจน และนิยามชัดเจนว่าเป็นหนี้เรื้อรัง และต้องป้องกันไม่ให้เกิดวัฒนธรรมจงใจผิดนัดชำระหนี้ (Moral Hazard) 

“การแก้ไขปัญหานี้จะต้องร่วมมือกันทุกหน่วยงาน และดอกเบี้ยเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง หากไม่ปรับอะไรเลย ลูกหนี้จะไม่สามารถออกจากสภาพหนี้เดิมได้ และลูกหนี้ต้องมีเงินเหลือในการดำรงชีพ และนำเงินมาชำระเงินต้นและดอกเบี้ยบางส่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดหนี้แข็ง รวมถึงต้องมีการส่งเสริมรายได้ ต้องทำไปรวมกันทั้งหมด”