เหยื่อหุ้น STARK กว่าพันราย ร้อง TIA ฟ้องแบบกลุ่ม-จี้ ก.ล.ต.เร่งคดี

ผู้เสียหายลงทุน STARK 1,759 ราย เดินหน้าร้องขอ TIA ช่วยเหลือค่าใช้จ่าย-ฟ้องคดีแบบกลุ่ม พร้อมเรียกร้อง ก.ล.ต.-ตลาดหลักทรัพย์ฯ เร่งคดี รวมถึงแก้กฎเปิดเผยข้อมูล ยกระดับการกำกับตลาดทุนให้มีประสิทธิภาพขึ้น ฟาก ตลท.ชี้เคส STARK เดินหน้าฟ้องได้เร็วหนุนสร้างมาตรฐานในอนาคต

รายงานจากสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2566 กลุ่มผู้เสียหายที่ลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ที่ได้ลงทะเบียนเป็นผู้ได้รับความเสียหายกว่า 1,759 ราย ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง TIA เพื่อขอให้สนับสนุนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินการฟ้องร้องคดีแบบกลุ่ม (class action) อาทิ ค่าวิชาชีพทนายความ ฯลฯ ตลอดจนค่าดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากผู้เสียหายได้สูญเสียเงินลงทุนและ/หรือเงินออมไปเป็นจำนวนมากแล้ว

และเพื่อให้การดำเนินการฟ้องร้องคดีแบบกลุ่ม ดำเนินไปตามลำดับได้อย่างรวดเร็ว ราบรื่น และประสบความสำเร็จในที่สุด ซึ่งจะเป็นการเยียวยาและสร้างความยุติธรรมให้กับผู้ลงทุนรายบุคคล

ทั้งนี้ ผู้เสียหายที่เป็นผู้ลงทุนรายบุคคลเข้าลงทะเบียนไว้ทั้งสิ้นจำนวน 1,759 รายดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่ากรณีนี้ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุนรายบุคคลจำนวนมากและเป็นวงกว้าง โดยทางสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยรับพิจารณาในการดำเนินการ เพื่อให้ความช่วยเหลือตามที่ตัวแทนผู้เสียหายหุ้นสามัญ STARK ร้องขอมาเป็นลำดับไป

นอกจากนี้ กลุ่มผู้เสียหายลงทุนหุ้นสามัญ STARK ยังได้ยื่นหนังสือถึงหน่วยงานในตลาดทุน ทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เร่งดำเนินคดี เพราะการกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลทั้ง 10 ราย เข้าข่ายความผิดหลายมาตราของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ

Advertisment

ซึ่งให้อำนาจ ก.ล.ต.ในการใช้มาตรการลงโทษผู้กระทำความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง กลุ่มผู้เสียหายจึงเรียกร้องให้ ก.ล.ต.ดำเนินมาตรการลงโทษทั้งทางอาญาและทางแพ่งขั้นสูงสุด พร้อมทั้งขอคำแนะนำถึงช่องทางที่ ก.ล.ต.จะสามารถช่วยเหลือบรรเทาเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ลงทุนรายบุคคลเหล่านี้

รวมถึงขอให้ทบทวนกฎเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใส ชัดเจน และระบบการบริหารงานที่มีธรรมาภิบาลของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯทั้งหลาย ตลอดจนยกระดับการกํากับ ตรวจสอบ และแจ้งเตือนผู้ลงทุนถึงความผิดปกติที่จะมีผลต่อราคาและการซื้อขายหลักทรัพย์ให้ทันท่วงที คืนความมั่นใจให้ผู้ลงทุนมีความเชื่อมั่นในการใช้ข้อมูลที่เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ

เพื่อการตัดสินใจได้อย่างเป็นธรรม ไม่ตกเป็นเหยื่อของการทุจริต รวมถึงเรียนรู้และใช้พฤติกรรมการฉ้อฉลในกรณี STARK เป็นกรณีศึกษาในการปรับปรุงหรือแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานการกํากับดูแลความโปร่งใสของบริษัทจดทะเบียน ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นแหล่งระดมทุนที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน เป็นฟันเฟืองสำคัญ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่สามารถทำเรื่องฟ้องร้องหรือทำงานร่วมกันให้ประสบความสำเร็จได้ในเวลาที่รวดเร็ว ในกรณีกล่าวโทษผู้กระทำผิดกรณีหุ้น STARK ถือว่าเป็นจุดที่ดี และจะทำให้ในอนาคตจะสามารถสร้างมาตรฐาน (benchmark) ที่ดีขึ้นในอนาคตได้

Advertisment

“แต่เหตุการณ์เช่นนี้เป็นเหตุการณ์ถึงแม้จะป้องกันมากแค่ไหน ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะเป็นการกระทำทุจริตฐานฉ้อโกง ซึ่งก็คงจะต้องมาช่วยกันดูต่อว่า ในอนาคตจะทำอย่างไร หรือให้ข้อมูลต่อผู้ที่เกี่ยวข้องได้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้การป้องกันเรื่องแบบนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายภากรกล่าว