ส่องกำไรหุ้นแบงก์ครึ่งปี’66 ปม STARK กระทบตั้งสำรองแค่ไหน ?

Prachachat Wealth เล่าเรื่องการลงทุนสัปดาห์นี้ จะพูดถึงภาพรวมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก และเริ่มมีกระแสที่พูดถึงการเพิ่มจำนวนผู้เล่นในตลาดที่จะช่วยเพิ่มการแข่งขัน

รวมถึงความคืบหน้าแบงก์ชาติเร่งผลักดันแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้เรื้อรังในระบบสินเชื่อรายย่อย และวันนี้จะไปอัพเดตภาพรวมกำไรหุ้นแบงก์งวดไตรมาส 2/66 และภาพครึ่งปีแรกว่าจะออกมาโดดเด่นแค่ไหน ซึ่งมีโอกาสได้ร่วมพูดคุยกับ “คุณธนเดช รังษีธนานนท์” Director of Research จากบริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน)

Q : แนวโน้มกำไรหุ้นแบงก์งวดไตรมาส 2 และภาพรวมครึ่งปีแรก

ประมาณ 8 ธนาคารที่ดูแลรวมถึง บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) ก็คาดการณ์กำไรประมาณ 52,000 ล้านบาท เติบโต 16% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) และก็เติบโต 1% จากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) เหตุผลหลัก ๆ ของไตรมาสนี้ก็จะมาจากเรื่องของการฟื้นตัวของสินเชื่อ เติบโตประมาณ 1.1% ในขณะที่เมื่อไตรมาสที่แล้วสินเชื่อหดตัวลงไป 0.6%

ฉะนั้นในครึ่งปีแรก สินเชื่อจะเติบโตประมาณ 0.5% ยังสตาร์ตเครื่องค่อนข้างช้า เหตุผลก็คือสินเชื่อเติบโตและก็ตัวมาร์จิ้นยังเป็นเรื่องหลักในการที่จะปั๊มกำไรของกลุ่มแบงก์ จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ผ่านมาในช่วงปี 2023 ต่อเนื่อง ทั้งในช่วงต้นปีจนถึงกลางปี ก็เป็นเหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้กำไรแบงก์เติบโตได้ดี YOY

และ QOQ ตัวมาร์จิ้นก็เป็นบวก แต่มีประเด็นว่าพอเข้าสู่ไตรมาส 2-4 เราจะพบว่าตัวค่าใช้จ่ายการดำเนินงานจะสูงขึ้น ฉะนั้นไปตัดกับตัวรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น แต่หักลบไปด้วยเรื่องของตัวค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่สูงขึ้น ในขณะที่ค่าธรรมเนียม เราเห็นว่าอาจยังไม่ค่อยฟื้นตัวเท่าไหร่ อาจจะเป็นเรื่องของตลาดทุนที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ว่าอาจจะมีตัวช่วยจากการเปิดประเทศ ทำให้การทำธุรกิจพวกแบงก์แอสชัวรันซ์ฟื้นตัว Fee Income ก็อาจจะ Flat อยู่ แต่ว่าน่าจะไปดีในครึ่งหลัง

ฉะนั้นครึ่งปีแรกเด่นหลัก ๆ จะมาจากตัวรายได้ดอกเบี้ยสุทธิตามการเติบโตของสินเชื่อ และก็การปรับขึ้นดอกเบี้ย และถ้าเราดูในครึ่งปีแรกกำไรน่าจะออกมาราว ๆ 100,000 ล้านบาท เติบโตประมาณ 15% ก็จะมาจากสองส่วนหลัก 1.รายได้ดอกเบี้ยสุทธิจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยอยู่หลายรอบในช่วงปีที่แล้วหรือปีนี้ 2.กำไรจากพอร์ตลงทุนในครึ่งแรกของปีนี้จะสูงกว่าของปีที่แล้วครับ ก็เป็นหตุผลหลัก ๆ ครับ

Q : ดูสถานการณ์หนี้เสียเพิ่มขึ้น หลังหมดมาตรการช่วยเหลือจากผู้ได้รับผลกระทบโควิด ช่วงที่เหลือของปีมองอย่างไร รวมถึงการตั้งสำรองแบงก์

ไตรมาสนี้ก็ยังไม่มีประเด็นอะไร อาจจะมีประเด็นหนึ่งก็คือเรื่องของ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ที่เป็นประเด็นเรื่องของการตกแต่งบัญชี ตรงนั้นเองก็เข้าใจว่าจะถูกจัดชั้นเป็นหนี้เสีย (NPL) เพราะว่าในไตรมาส 1/66 แบงก์เองอาจจะยังไม่จัดชั้นเป็น NPL อยู่แค่ Stage 2 แต่ว่าถ้าดูตามสถานการณ์แล้วต้องเป็น NPL แล้ว

ปม STARK กระทบตั้งสำรองแค่ไหน ?

เพราะบริษัทนี้น่าจะมีปัญหาในการชำระหนี้ในระยะสั้นและระยะยาว ฉะนั้นตรงนี้เองก็จะทำให้ NPL อาจจะกระตุกขึ้นบ้างเล็กน้อย เพราะว่าหนี้ของ STARK ก็มีจำนวน 10,000 ล้านบาท แต่ว่าจำนวนสินเชื่อทั้งหมดในระบบ 14-15 ล้านล้านบาท ฉะนั้นแค่ขึ้นมาประมาณหมื่นล้านไม่กระทบในภาพรวม

แต่อาจจะกระทบบางแบงก์ เช่น ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ที่มีการปล่อยสินเชื่อให้กับ STARK อยู่ค่อนข้างมาก แต่โดยภาพรวมเราคิดว่าตัว NPL Ratio น่าจะทรงตัวที่ 3.7% และก็ในแง่ของตัวสำรองต่อหนี้เสียอยู่ที่ 184% ฉะนั้นในภาพงบดุลไม่ได้มีอะไร

ส่วนในอนาคตก็ต้องมองร้ายไว้ก่อน ในแง่ของตัวเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ในฝั่งของภาคส่งออกและสินเชื่อรายย่อยที่มีปัญหา ไม่อย่างนั้นแบงก์ชาติคงไม่เข้ามาจัดการ แต่ว่าสิ้นปีนี้เราคิดว่า NPL Ratio เพิ่มขึ้น แต่อยู่ในระดับประมาณ 3.8% ฉะนั้นโดยภาพรวมแล้วไม่ได้เป็นประเด็นที่น่ากดดันสำหรับแบงก์ในปีนี้

Q : แบงก์ชาติเร่งผลักดันประกาศแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้เรื้อรังในระบบสินเชื่อรายย่อย มีมุมมองอย่างไร

ในแง่ของตัวหนี้ครัวเรือน มีสัดส่วนของแบงก์ที่ปล่อยสินเชื่อรายย่อย ซึ่งหนี้รายย่อยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล นี่คือ 4 ตัวหลัก แต่ว่าบ้านจะเป็นตัวที่ใหญ่สุด ในประมาณ 16 ล้านล้านบาท หนี้ครัวเรือนใหม่ ตามนิยามของแบงก์ชาติที่มีการรวมหนี้จากสหกรณ์และ กยศ. เข้ามาจะพบว่า มีสัดส่วนที่อยู่ในพอร์ตของธนาคารพาณิชย์ 40%

ฉะนั้นพอร์ตตรงนี้เองเราไม่ได้กังวลในฝั่งของธนาคาร เพราะว่าธนาคารโดยธรรมชาติแล้วเป็นธุรกิจที่มีการกระจายของตัวสินเชื่ออยู่แล้ว เช่น 35% ของสินเชื่อธนาคารเป็นสินเชื่อรายย่อย และอีกประมาณ 65% เป็นสินเชื่อธุรกิจ ฉะนั้นประเด็นหนี้ครัวเรือนไม่มีปัญหากับแบงก์เพราะว่าแบงก์พอร์ตสินเชื่อเขากระจายตัว

คนที่มีปัญหามากกว่าอาจจะเป็นกลุ่มพวกธนาคารของรัฐและน็อนแบงก์ ที่อาจจะต้องช่วยเหลือลูกหนี้เยอะหน่อย หนี้ส่วนใหญ่จะไปกระจุกตัวที่สินเชื่อรายย่อย

Q : กระแสมีการหารือเปิดแบงก์เพิ่ม เพื่อเพิ่มผู้เล่นในตลาด จะช่วยให้การแข่งขันมากขึ้นได้จริงไหม

ถามว่าเพิ่มได้ไหม เพิ่มได้ แต่ว่าเราต้องเข้าใจบริบท จริง ๆ แล้วแนวคิดนั้นก็เป็นแนวคิดเชิงเศรษฐศาสตร์ว่า ถ้าเกิดว่ามีผู้เล่นเยอะขึ้น ก็คาดหวังว่าจะมีการแข่งขันมากขึ้น และนำไปสู่การลดดอกเบี้ยเป็นผลเชิงบวกต่อผู้กู้

แต่ถ้าเราดูจริง ๆ จะพบว่ามีธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย 17 แห่ง อีก 11 แห่ง เป็นธนาคารต่างประเทศ และก็มีน็อนแบงก์อีก 20 แห่ง ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และที่ไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯอีกจำนวนมาก ยังไม่รวมตัวนาโนไฟแนนซ์อีก 59 แห่ง และพิโกไฟแนนซ์อีกประมาณ 1 พันราย ซึ่งตรงนี้ก็ยังไม่รวมสหกรณ์ที่มีเป็นร่วมหมื่นราย

ฉะนั้นถ้าเรามองจริง ๆ ไม่ใช่ข้อจำกัดเรื่องของจำนวนผู้ให้กู้ ถึงแม้ว่าจะมีผู้ให้กู้เข้ามา แต่ว่าจะต่อสู้กับคนที่อยู่ในระบบที่เป็นแบงก์เองจะสู้ได้แค่ไหนมากกว่า

เพราะว่าฐานข้อมูลก็สู้ไม่ได้ ฐานทุนก็สู้ไม่ได้ Connection ก็สู้ไม่ได้ ฉะนั้นการที่จะมองว่าจะเปิดแบงก์ใหม่เข้ามาแล้วจะสู้กับแบงก์เก่า ต้องมีอะไรที่แข่งได้ ซึ่งการแข่งได้คือโจทย์ใหม่ที่ทางแบงก์ชาติหรือว่าภาครัฐต้องมอง ซึ่งไปสู่โจทย์การทำ Virtual Banking ในปีหน้า และเริ่มดำเนินการในปี 2025

ฉะนั้นถ้าจะเปิดแบง์ใหม่ ผมเชียร์ไปทาง Virtual Banking ที่จะเกิดขึ้น 3 แห่งก่อน อนาคตถ้าไม่เพียงพอค่อยเติมเพิ่มไปเพื่อความเหมาะสม

เพราะว่าธุรกิจธนาคารต้องมี 3 ปัจจัยที่จะสำเร็จคือ 1.ต้องมีเสถียรภาพ นั่นหมายความว่าจะต้องมีเงินกองทุน มีสำรองหนี้ มีการจัดการความเสี่ยงที่มากพอ เพราะว่า cycle เศรษฐกิจ เวลาดีก็ดี แต่เวลาร้ายก็แย่ ดังนั้นถ้าเกิดไม่มีเสถียรภาพถึงเปิดขึ้นมาก็สู่รายเก่าไม่ได้

2.ต้องมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นตัวบุคลากรในการแข่งขัน ความสามารถในการเข้าถึงตัวลูกค้า และที่สำคัญคือระบบไอที ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก นั่นหมายถึงฐานทุนต้องแน่นเพียงพอในการแข่งขันได้

อันที่ 3.เข้าถึงง่าย ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญ ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นคือว่าพวกอันเดอร์เสิร์ฟ จะเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย หรือว่าไม่มีรายได้ประจำ ปัญหาก็คือไม่สามารถเข้าสู่ระบบแบงก์ได้ ฉะนั้นการเข้าถึงง่ายผ่านพวกดิจิทัลแพลตฟอร์ม เป็นโจทย์ที่สำคัญ

แต่ว่าถ้าผมจะมองว่าเพิ่มแบงก์ อยากจะให้มองว่าเพิ่มแบงก์เพื่อไปตอบโจทย์อะไรมากกว่าที่บอกว่าเพิ่มแบงก์ ๆ เผลอ ๆ การเพิ่มแบงก์อาจจะไม่ตอบโจทย์คนตัวเล็กก็ได้ เพราะว่าแบงก์ถูกควบคุมแน่นโดยแบงก์ชาติ