จับตาหุ้นแบงก์ NPL ทะลัก Q3 ไตรมาส 2 หายห่วงดอกเบี้ยขาขึ้นดันกำไรโต

หุ้นแบงก์

โบรกฯส่องหุ้นแบงก์ฟันธงกำไร Q2/2566 พุ่ง “บล.ฟิลลิป” คาด 8 แบงก์โกย 6.4 หมื่นล้านบาท โต 24.7% จากปีก่อน อานิสงส์สินเชื่อโต-ปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม ธปท. หนุนกำไรครึ่งปีแรกแตะ 1.2 แสนล้านบาท ฟาก “บล.เอเซีย พลัส” ประเมินกำไรแบงก์รับแรงหนุนหลักจากดอกเบี้ยขาขึ้น ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมหดตัว ผลกระทบตลาดทุนป่วน-จับตา Q3 ลูกหนี้ไหลตกชั้นเป็นเอ็นพีแอลพุ่ง

นายอดิสรณ์ มุ่งพาลชล นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้คาดการณ์ผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/2566 ของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง ได้แก่

1.กสิกรไทย (KBANK) 2.กรุงไทย (KTB) 3.กรุงเทพ (BBL) 4.บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) 5.กรุงศรีอยุธยา (BAY) 6.ทหารไทยธนชาต (TTB) 7.เกียรตินาคินภัทร (KKP) และ 8.บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) คาดว่าจะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 64,006 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) และเพิ่มขึ้น 8.9% จากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) โดยประเมินภาพรวมกำไรสุทธิงวดครึ่งปีแรก ปี 2566 จะอยู่ที่ 122,786 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.1% YOY (ดูตาราง)

กราฟฟิก กำไรหุ้น

“การเติบโตของกำไรงวดไตรมาส 2 ปีนี้ มาจากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ตามการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อและการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หลังจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นไปก่อนหน้า โดยคาดสินเชื่อกลุ่มแบงก์ในไตรมาส 2 จะกลับมาเติบโตได้ 0.15% QOQ หลังจากไตรมาส 1 สินเชื่อหดตัว 0.16% QOQ และประเมินในช่วงที่เหลือของปีหากทิศทางเศรษฐกิจมีการเติบโตที่ดี ก็คาดว่าสินเชื่อน่าจะโตต่อได้ โดยประเมินกำไรกลุ่มแบงก์ปีนี้ไว้ที่ 228,495 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.5% YOY”

อย่างไรก็ตาม ต้องระวังปัจจัยเสี่ยงจากมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่หมดลง ซึ่งจะทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในไตรมาสนี้เพิ่มสูงขึ้นมาจากระดับ 2.9% ในไตรมาส 1 และแนวโน้มเทรนด์ NPL จะยังคงปรับสูงขึ้นได้อีก โดยในไตรมาส 3 ประเมินว่า แย่สุดอาจจะขึ้นไปแตะระดับ 3.2% แต่ทั้งนี้ แบงก์มีสำรองที่เพียงพอ และจะสามารถลดผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของ NPL ได้

ส่วนแนวทางให้คิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยงลูกหนี้ (risk based pricing) ก็มองว่าน่าจะเป็นปัจจัยบวกและส่งผลดีต่อแบงก์ เพราะฐานลูกค้าน่าจะกว้างมากขึ้น แต่ทั้งนี้ ในรายละเอียดคงต้องรอเกณฑ์ต่าง ๆ ออกมาก่อน

“สำหรับหุ้นแบงก์ เรายังคงน้ำหนัก ‘ลงทุนมากกว่าตลาด’ เช่นเดิม เพราะมองว่าอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นจะส่งผลดีต่อผลตอบแทนสินเชื่อและกำไรของกลุ่มแบงก์ และสินเชื่อที่เริ่มฟื้นตัวน่าจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของกลุ่มยังเติบโตได้ต่อ ยังคงเลือก BBL เป็น top pick ของกลุ่ม เนื่องจาก BBL เป็นธนาคารที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น” นายอดิสรณ์กล่าว

นายภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มกำไรหุ้นกลุ่มแบงก์ในไตรมาส 2 น่าจะขยับตัวขึ้นได้ทั้ง YOY และ QOQ โดยได้แรงหนุนจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 2 รอบในช่วงปลายเดือน มี.ค.กับ พ.ค. ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่ารายได้ค่าธรรมเนียมที่น่าจะชะลอตัวลง โดยเฉพาะจากค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนที่หดตัวตามสภาวะตลาดหุ้น

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยผ่านการปรับฐานมาพอสมควรแล้ว จากผลกระทบการเมืองในประเทศ ดังนั้นภาพไตรมาส 3 หากทิศทางการเมืองชัดเจน และภาคท่องเที่ยวที่เป็น key driver ของเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวตามมุมมองตลาด ประกอบกับไม่มีการดาวน์เกรดกำไรบริษัทจดทะเบียน ก็คาดว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะกลับมามีสีสันได้อีก ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่หนุนรายได้ค่าธรรมเนียมในกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ปรับตัวดีขึ้นได้ในเชิง QOQ แต่ยังสู้ YOY ไม่ได้

ส่วนสถานการณ์เอ็นพีแอล ยังคงอยู่ในทิศทางการปรับตัวเพิ่มขึ้น มีแรงกดดันจากปัญหาในกลุ่มสินเชื่อรายย่อยที่มีบางกลุ่มฟื้นตัวไม่เท่าเทียมกันตามภาวะเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์, บ้าน, บัตรเครดิต เป็นต้น แต่สินเชื่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวเริ่มน่าจะฟื้นตัวได้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2563-2565 แต่ละแบงก์มีการตั้งสำรองไว้ในระดับสูง ซึ่งคาดว่าเพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยงลูกหนี้ที่หมดมาตรการช่วยเหลือ และจะไหลตกชั้นลงมา โดยสะท้อนได้จาก coverage ratio ของกลุ่มแบงก์ สิ้นไตรมาส 1/2566 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 180% สูงกว่าค่าเฉลี่ยช่วงพรีโควิด (ไตรมาส 4/2562) ที่อยู่ระดับ 153.3%

“ช่วงนี้แนะนำนักลงทุนให้โฟกัสไปซื้อหุ้นแบงก์ใหญ่ อย่าง BBL, SCB, KBANK ซึ่งได้ประโยชน์ดอกเบี้ยขาขึ้น และเป็นธนาคารที่หลังประกาศงบฯไตรมาส 2 จะมีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล จึงน่าจะช่วยสร้างสีสันให้กับการลงทุนได้” นายภาสกรกล่าว