ดอลลาร์แข็งค่า เก็งเฟดขึ้นดอกเบี้ยสัปดาห์หน้า

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า เก็งเฟดขึ้นดอกเบี้ยสัปดาห์หน้าอีก 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 25-26 กรกฎาคม 2566 นี้ ขณะที่ปัจจัยการเมืองภายใน นักลงทุนยังคงจับตาการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 ในวันที่ 27 ก.ค.นี้อีกครั้ง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/7) ที่ระดับ 33.83/85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (19/7) ที่ระดับ 34.03/05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ผลจากปัจจัยการเมืองในประเทศ ภายหลังตลาดคาดการณ์ว่า พรรคเพื่อไทยน่าจะได้เป็นแกนนำรัฐบาล หนุนมุมมองเชิงบวก และภาวะการลงทุนในประเทศ ก่อนที่ช่วงบ่ายค่าเงินบาทจะทยอยกลับมาอ่อนค่าเหนือระดับ 34.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยเคลื่อนไหวอ่อนค่าตามทิศทางเดียวกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ หลังดัชนีดอลลาร์สหรัฐฟื้นตัวแข็งแกร่งเหนือระดับ 100.20 ภายหลังตลาดคาดการณ์ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์หน้า

คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25%

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 99.8% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 25-26 กรกฎาคม และให้น้ำหนักเพียง 0.2% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25%

Advertisment

อย่างไรก็ดี นักลงทุนให้น้ำหนัก 40.4% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 19-20 มีนาคม 2567 โดยให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นจากระดับ 34.7% เมื่อเดือนที่แล้ว

สำหรับการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐเมื่อคืนที่ผ่านมานั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านปรับตัวลดลง 8% สู่ระดับ 1.44 ล้านยูนิตในเดือนมิถุนายน ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 1.48 ล้านยูนิต จากระดับ 1.56 ล้านยูนิตในเดือนพฤษภาคม ส่วนการอนุญาตก่อสร้างบ้านปรับตัวลง 3.7% สู่ระดับ 1.44 ล้านยูนิตในเดือนมิถุนายน

ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.4% ในไตรมาส 2 ปี 2566 หลังจากขยายตัว 2.0% ในไตรมาส 1 ทั้งนี้ เฟดสาขาแอตแลนตาจะรายงานตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ครั้งใหม่ในวันที่ 26 กรกฎาคม

นอกจากนี้ สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เผยว่า สต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐ ลดลง 700,000 บาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว จากที่คาดว่าจะลดลง 2.25 ล้านบาร์เรล และสต๊อกน้ำมันดิบที่เมืองคูชิง รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าของสหรัฐลดลง 2.9 ล้านบาร์เรล

Advertisment

จับตาโหวตนายกฯ ครั้งที่ 3

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ วานนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้องกรณีสถานภาพของนายพิธา ลิ้นเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ถูกต้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) พร้อมมีมติ 7:2 ให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย

ซึ่งภายหลังการประกาศที่ประชุมรัฐสภาจึงได้มีการลงมติว่า การเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2 ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะผิดข้อบังคับการประชุมข้อที่ 41 ด้วยคะแนนเสียง 395 เสียง ต่อ 312 โดยมีผู้งดออกเสียง 8 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง จึงสรุปว่ารัฐสภาไม่สามารถดำเนินขั้นตอนการคัดเลือกนายกรัฐมนตรีในรอบที่ 2

อย่างไรก็ดีตลาดยังคงจับตาการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 ในการประชุมสภาในวันที่ 27 กรกฎาคมอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ในระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 33.75-34.07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.03/04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

อนึ่ง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยวิเคราะห์ทิศทางการส่งออกไทยในปี 2566 ภายใต้การเมืองไทยที่ยังไม่แน่นอน โดยตั้งสมมุติฐานได้ไว้ 2 กรณี ดังนี้ 1. ตั้งรัฐบาลใหม่ได้ภายในเดือนสิงหาคม 2566 คาดว่า มูลค่าการส่งออกของไทยไปตลาดโลกในปี 2566 จะมีมูลค่าราว 283,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือหดตัว -1.2% (ช่วงคาดการณ์ระหว่าง -1.8 ถึง0.8%) และกรณีที่ 2 ไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายในเดือนสิงหาคม 2566 คาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยไปตลาดโลกในปี 2566 จะมีมูลค่าราว 279,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือหดตัว -2.5% (ช่วงคาดการณ์ระหว่าง -1.9 ถึง -3.1%)

นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ระบุในรายงาน Asian Development Outlook (ADO) ประจำเดือนกรกฎาคม 2566 ว่า ADB เพิ่มคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยสู่ 3.5% จากที่เคยประมาณการไว้ที่ 3.3% ในเดือนเมษายน หลังขยายตัว 2.6 ในปี 2565 โดยไทยเป็นเพียงประเทศเดียวใน 6 ประเทศอาเซียนที่ ADB ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/7) ที่ระดับ 1.1220/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (19/7) ที่ระดับ 1.1227/29 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไปของยูโรโซนปรับตัวลดลงอยู่ที่ 5.5% ในเดือนมิถุนายนเมื่อเทียบรายปี เท่ากับที่คาดการณ์จากระดับ 6.1% ในเดือนพฤษภาคม

ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (ไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน) ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 5.5% ในเดือนมิถุนายนเมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 5.45% จากระดับ 5.3% ในเดือนพฤษภาคม โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1165-1.1228 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1205/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/7) ที่ระดับ 139.24/25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (19/7) ที่ 139.81/84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังมีการเปิดเผยตัวเลขเดินดุลการค้าเดือนมิถุนายนของญี่ปุ่นอยู่ที่ระดับ 43 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าที่คาดว่าจะขาดดุลการค้าอยู่ที่ 46.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้การส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5% และการนำเข้าลดลง 12.9%

โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 139.09-139.70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 139.42/43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (20/7), ดัชนีการผลิตเดือนกรกฎาคมจากเฟดฟิลาเดลเฟียของสหรัฐ (20/7), ยอดขายบ้านมือสองเดือนมิถุนายนของสหรัฐ (20/7) และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนมิถุนายนจาก Conference Board ของสหรัฐ (20/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -9.9/-9.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -13.5/-12.2 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ