ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ขานรับความเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นตัว

US Dollars ดอลลาร์สหรัฐ
FILE PHOTO: U.S. dollar banknotes REUTERS/Dado Ruvic

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า ขานรับความเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นตัว หลังได้รับแรงหนุนจากการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อและความแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน

วันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/7) ที่ระดับ 34.63/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/7) ที่ะดับ 34.59/61 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยได้รับปัจจัยหนุนจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐที่เริ่มฟื้นตัว

โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 72.6 ในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 65.5 และสูงกว่าระดับ 64.4 ในเดือน มิ.ย.ได้รับแรงหนุนจากการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อและความแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน

อย่างไรก็ตาม รายงานอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์เดือน ก.ค. จะขยายตัวที่ระดับ 3.4% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 3.3% ในการสำรวจครั้งก่อนหน้าและการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

สำหรับการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 3.1% จากการสำรวจครั้งก่อนหน้าที่ระดับ 3.0% ส่งสัญญาณว่าผู้บริโภคยังคงมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ

นอกจากนี้กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคานำเข้าหดตัวลง 0.2% ในเดือน มิ.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งหดตัวมากกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.1% และหดตัวลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 0.4% โดยเมื่อเทียบรายปีดัชนีราคานำเข้าหดลง 6.1% ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นการร่วงลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2563 และหดตัวมากกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.9% สาเหตุจากการปรับตัวลงของราคาสินค้านอกหมวดพลังงาน

ในขณะที่ดัชนีราคาส่งออกหดตัวที่ระดับ 0.9% เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งหดตัวมากกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% และน้อยกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 1.9% โดยเมื่อเทียบรายปี ดัชนีราคาส่งออกหดตัวลง 12.0% ซึ่งหดตัวมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์และเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 11.1% และ 10.1% ตามลำดับ การส่งออกของสหรัฐถูกกดดันจากการชะลอตัวของอุปสงค์และเศรษฐกิจโลก

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นปัจจัยหลักที่กดดันค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตลาดจับตาดูผลการประชุมระหว่าง 8 พรรคร่วมวันนี้ และการประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ในวันพุธนี้ (19/7) โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.62-34.72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.64/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/7) ที่ระดับ 1.1220/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/7) ที่ระดับ 1.1222/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ

สำนักงานสถิติยุโรปเปิดเผยดุลการค้ายุโรปเดือนพฤษภาคมขาดดุลอยู่ที่ระดับ 300 ล้านยูโร ขาดดุลน้อยกว่าตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 7.6 พันล้านยูโร และเดือนก่อนหน้าที่ขาดดุล 1.2 หมื่นล้านยูโร ส่งสัญญาณว่าแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปยังไม่สู้ดีนัก แม้ว่าจะขาดดุลน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ก็ตาม

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1215-1.1248 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1237/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/7) ที่ระดับ 138.58/61 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/7) ที่ระดับ 138.52/55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยกระทรวงเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเปิดเผยดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวที่ระดับ 2.2% ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งหดตัวมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.6% และเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 0.7% ส่งสัญญาณว่าภาคการผลิตของญี่ปุ่นมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องและอาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่น

นอกจากนี้ตลาดยังคงจับตาดูท่าทีของธนาคารกลางญี่ปุ่น เพื่อหาสัญญาณการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษสู่สภาวะปกติ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 138.32-138.75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 138.46/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีการผลิตรัฐนิวยอร์ก (17/7), ดัชนียอดค้าปลีก (18/7), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (18/7), คำขออนุญาตสร้างอาคาร (19/7), จำนวนที่อยู่อาศัยเริ่มสร้าง (19/7), คำขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (20/7), รายงานดัชนีการผลิตจากธนาคารกลางรัฐฟิลาเดลเฟีย (20/7), ยอดขายบ้านมือสอง (20/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -11.15/-10.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.90/-8.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ