กนง. ขึ้นดอกเบี้ยตามคาด ตลาดจับตาเลือกนายกฯศุกร์นี้

กนง ขึ้นดอกเบี้ย

กนง.ขึ้นดอกเบี้ยตามคาด 0.25% จาก 2.00% เป็น 2.25% ต่อปี มีผลทันที ขณะที่ตลาดจับตาโหวตเลือกนายกฯศุกร์ที่ 4 สิงหาคมนี้

วันที่ 2 สิงหาคม 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 2 สิงหาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/8) ที่ระดับ 34.31/33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เงินบาทอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (31/7) ที่ระดับ 34.23/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าเทียบเงินสกุลหลัก

หลังคืนวันจันทร์ (31/7) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา ได้ทำการเปิดเผยแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 3.5% ในไตรมาส 3/2566 ขณะที่ตัวเลขประมาณการครั้งแรกสำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2/2566 อยู่ที่ 2.4%

ทางด้านสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยในคืนวานนี้ (1/8) ว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 46.4 ในเดือนกรกฎาคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 46.8 แต่สูงขึ้นจากระดับ 46.0 ในเดือนมิถุนายน ดัชนียังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ภาวะหดตัวของภาคการผลิตสหรัฐ โดยเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9

นอกจากนี้สำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) ประจำเดือนมิถุนายน พบว่าตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปทานในตลาดแรงงาน ลดลง 34,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 9.582 ล้านตำแหน่งในเดือนมิถุนายน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 9,610 ล้านตำแหน่ง และต่ำกว่าระดับ 9,616 ล้านตำแหน่งที่มีการปรับค่าแล้วในเดือนพฤษภาคม

ตัวเลขดังกล่าวเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปีนับตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2564 และทางเอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 49.0 ในเดือนกรกฎาคม จากระดับ 46.3 ในเดือนมิถุนายน เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาด อย่างไรก็ดีดัชนี PMI ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของสหรัฐยังคงอยู่ในภาวะหดตัว

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้มีการเปิดเผยการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนมิถุนายน เมื่อเทียบรายเดือน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.6% หลังจากเพิ่มขึ้น 1.1% ในเดือนพฤษภาคมเมื่อเทียบรายปี การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างพุ่งขึ้น 3.5% ในเดือนมิถุนายน

มติกนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศเมื่อช่วงบ่ายวันจันทร์ (31/7) ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายนปี 2566 อยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยภาคการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทยต่างชาติ รวมทั้งมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำปรับเพิ่มขึ้นจากสินค้าเกษตรเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทรงตัว สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงจากหมวดอาหารสด ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว -5.9% และหากไม่รวมทองคำ จะหดตัว -4.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากเทียบกับเดือนพฤษภาคม มูลค่าการส่งออกในเดือนมิถุนายนปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.5% โดยเฉพาะสินค้าเกษตรตามการส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีน และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ไปยังประเทศสหรัฐ และยุโรป

ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนมิถุนายน หากไม่รวมทองคำ ลดลงจากเดือนพฤษภาคม ตามการนำเข้าสินค้าทุน หลังมีการเร่งนำเข้าเครื่องบินและคอมพิวเตอร์, วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ไม่รวมเชื้อเพลิง จากการนำเข้าเหล็กที่ลดลง และสินค้าอุปโภคบริโภค

อย่างไรก็ดี การนำเข้าเชื้อเพลิงปรับเพิ่มขึ้นตามปริมาณการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ และในช่วงบ่ายวันนี้ (2/8) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.00% เป็น 2.25% ต่อปี ตามที่ตลาดคาดการณ์

ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.25-34.42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.26/27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/8) ที่ระดับ 1.0996/97 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (31/7) ที่ระดับ 1.1034/38 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเมื่อช่วงบ่ายวันจันทร์ (31/7) ได้มีการเปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของยูโรโซน ไตรมาส 2 (ประมาณการเบื้องต้น) กลับมาเติบโตอีกครั้ง

โดยไตรมาสที่ 2 ของยูโรโซนขยายตัว 0.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และมากกว่าระดับ 0.2% จากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์ เมื่อเทียบรายปี GDP ไตรมาส 2 ของยูโรโซนอยู่ที่ระดับ 0.6% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.5%

ก่อนหน้านี้ GDP ของยูโรโซนในไตรมาสแรกปี 2566 อยู่ระดับ 0% เมื่อเทียบรายไตรมาสและหดตัว-0.1% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ทั้งนี้ในประเทศกลุ่มยูโรโซนพบว่าฝรั่งเศสและสเปนเติบโตในอัตราที่ต่อเนื่อง ในขณะที่อิตาลีนั้นประสบภาวะหดตัว อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนลดลงอย่างต่อเนื่องในเดือนกรกฎาคมตามประมาณการ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะยังคงอยู่ในระดับเดียวกับเดือนมิถุนายน

และข้อมูลเบื้องต้นจากสำนักงานสถิติยุโรป (Eurostat) ของสหภาพยุโรปที่เปิดเผยในวันจันทร์ (31/7) ระบุว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้น 5.3% เมื่อเทียบรายปี ลดลงจากระดับ 5.5% ของเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงาน ยังคงอยู่ที่ระดับ 5.5% เมื่อเทียบรายปี

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0981-1.1002 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0983/86 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/8) ที่ระดับ 143.11/13 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (31/7) ที่ระดับ 143.11/13 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เงินเยนปรับตัวอ่อนค่าต่อเนื่องหลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตัดสินใจเมื่อวันศุกร์ว่าจะปรับนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวปรับตัวขึ้นสอดคล้องกับทิศทางของอัตราเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 142.39-143.13 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 142.32/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ยื่นขอรับสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์ (3/8), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคบริการของสหรัฐ จากสถาบัน ISM (3/08), อัตราว่างงานของสหรัฐ ประจำเดือนมิถุนายน (4/8), ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ ประจำเดือน มิ.ย. (4/8) และการเลือกนายกฯของไทย (4/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.25/-10.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -10.95/-9.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ