กรุงเทพประกันภัย ปรับโครงสร้าง ตั้ง “บีเคไอ โฮลดิ้งส์” แลกหุ้นเข้าตลาด

กรุงเทพประกันภัย

กรุงเทพประกันภัย ชงประชุมผู้ถือหุ้น 6 ต.ค.นี้ ปรับโครงสร้างธุรกิจ จัดตั้ง “บีเคไอ โฮลดิ้งส์” แลกหุ้น-เข้าตลาด คาดแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/67

วันที่ 16 สิงหาคม 2566 นายเอนก คีรีเสถียร เลขานุการบริษัท บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 ได้มีมติเห็นชอบแผนการปรับโครงสร้างของบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยมีมติอนุมัติแผนการปรับโครงสร้าง โดยการจัดตั้งบริษัท บีเคไอ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BKIH) ขึ้นมาเพื่อประกอบธุรกิจเป็นบริษัทลงทุน (Holding Company) โดยจะดำเนินจัดตั้งบริษัทภายในเดือน ส.ค. 2566

ปรับโครงสร้างธุรกิจ

โดยไทม์ไลน์เบื้องต้น ภายในเดือน ส.ค.นี้ บริษัทก็จะยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ อนุญาตเบื้องต้นคือ 1.แผนการปรับโครงสร้างของบริษัท 2.แผนการนำหุ้นที่ออกใหม่ของบริษัทโฮลดิ้งส์เข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯแทนหุ้นของบริษัท

และภายในเดือน ก.ย. 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทของบริษัทโฮลดิ้งส์มีมติอนุมัติคือ 1.การเพิ่มทุนจำทะเบียนเพื่อรองรับการแลกหุ้นของบริษัท 2.การจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท 3.การทำคำเสนอซื้อหุ้นของบริษัท (โดยการแลกหุ้น) ในอัตราเท่ากับ 1 หุ้นสามัญของบริษัทต่อ 1 หุ้นสามัญของบริษัทโฮลดิ้งส์ และการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้อง

4.การยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์พร้อมการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ ต่อสำนักงาน ก.ล.ต.

5.การยื่นแบบคำขอรับหุ้นสามัญของบริษัทโฮลดิ้งส์เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ 6.การเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2566

ชงผู้ถือหุ้น 6 ต.ค.

และวันที่ 6 ตุลาคม 2566 จะมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติอนุมัติ 1.แผนการปรับโครงสร้างของบริษัท 2.การเพิกถอนหุ้นของบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ 3.การแก้ไขข้อบังคับของบริษัท 4.การมอบอำนาจที่เกี่ยวข้อง

และภายในเดือน ต.ค. 2566 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทโฮลดิ้งส์ มีมติอนุมัติ 1.การเพิ่มทุนจดทะเบียนเพื่อรองรับการแลกหุ้นของบริษัท 2.การจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท 3.การทำคำเสนอซื้อหุ้นของบริษัท (โดยการแลกหุ้น) และการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้อง

4.การยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ และแบบแสดง รายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์พร้อมการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. 5.การยื่นแบบคำขอรับหุ้นสามัญของบริษัทโฮลดิ้งส์ เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ

และภายในไตรมาส 2/2567 (ภายหลังจากที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้เสนอขายหุ้น) เมื่อได้รับอนุมัติจากสำนักงาน ก.ล.ต. บริษัทโฮลดิ้งส์ ทำเสนอซื้อหลักทรัพย์ ทั้งหมดของบริษัทจากผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท เป็นระยะเวลา 25 วันทำการ แต่ไม่เกิน 45 วันทำการ (ด้วยวิธีการแลกหุ้น)

และภายในไตรมาส 2/2567 ภายหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาเสนอซื้อหลักทรัพย์ 1.บริษัทโฮลดิ้งส์จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้ว (จำนวนทุนจดทะเบียนชำระแล้วจะขึ้นอยู่กับจำนวนหุ้นของบริษัทที่ผู้ถือหุ้นนำมาแลก) 2.บริษัทโฮลดิ้งส์ ยื่นคำขอให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ รับหุ้นของบริษัทโฮลดิ้งส์ เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน 3.หุ้นของบริษัทโฮลดิ้งส์ เข้าจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน และหุ้นของบริษัท ถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันเดียวกัน

ทั้งนี้บริษัทโฮลดิ้งส์จะสามารถลงทุนโดยการถือหุ้นในธุรกิจอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัยได้ โดยไม่ติดข้อจำกัดการลงทุน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว

ปลดล็อกข้อจำกัด

“สืบเนื่องจากบริบทของธุรกิจทางการเงินในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้พฤติกรรม ของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ธุรกิจประกันวินาศภัยแบบดั้งเดิมจึงมีข้อจำกัดในการแข่งขัน ความคล่องตัวในการดำเนินกิจการ การขยายธุรกิจ และความยืดหยุ่นของโครงสร้างการจัดการขององค์กรที่เหมาะสมกับการประกอบธุรกิจของแต่ละกลุ่มธุรกิจ  อีกทั้งในปัจจุบันบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

โดยตามประกาศของสำนักงาน คปภ. เรื่อง การลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2556 มีข้อจำกัดเกี่ยวกับการลงทุนหรือการถือหุ้นในธุรกิจอื่น รวมถึงตราสารทุนต่าง ๆ ทำให้การขยายธุรกิจหรือการลงทุนของบริษัทในปัจจุบันเป็นไปอย่างจำกัด อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราส่วนเงินกองทุนทั้งหมดต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Capital Adequacy Ratio : CAR) ของบริษัท”

สำหรับกลุ่มธุรกิจหลักของบริษัทโฮลดิ้งส์ ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับประกันภัย และที่เกี่ยวข้องโดย กลุ่มธุรกิจดังกล่าวจะมีขนาดสินทรัพย์รวมกันไม่น้อยกว่า 75% ของสินทรัพย์รวมของบริษัทโฮลดิ้งส์ ประกอบด้วย 3 สายธุรกิจดังนี้

1.ธุรกิจประกันวินาศภัยในประเทศไทย (Non-life Insurance) บริษัทโฮลดิ้งส์จะยังคงมีธุรกิจหลักเป็นการลงทุนในบริษัท และจะดำเนินการศึกษา ความเป็นไปได้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มต่อกิจการ

2.ธุรกิจประกันภัยในต่างประเทศ (International Insurance) บริษัทโฮลดิ้งส์ได้ลงทุนในธุรกิจประกันภัยไปยังต่างประเทศ โดยถือผ่านบริษัท ได้แก่ ในประเทศลาว ประเทศกัมพูชา ประเทศฟิลิปปินส์ ที่มีศักยภาพในการเติบโตเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ หากในอนาคตบริษัท มีการพิจารณาลงทุนในธุรกิจประกันที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศก็จะพิจารณาใช้บริษัทโฮลดิ้งส์ ในการเข้าลงทุนเพิ่มเติม

3.ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัย (Insurance Related) บริษัทโฮลดิ้งส์จะพิจารณาความเป็นไปได้ในการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ประกันวินาศภัย ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท ให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น

2.กลุ่มธุรกิจอื่นคือ ธุรกิจที่นอกเหนือจากธุรกิจประกันภัย ซึ่งจะมีขนาดของสินทรัพย์รวมกันไม่เกิน 25% ของสินทรัพย์รวมของบริษัทโฮลดิ้งส์ โดยบริษัทโฮลดิ้งส์จะพิจารณาความเป็นไปได้ในการ ลงทุนในธุรกิจที่ส่งเสริมธุรกิจประกันภัย และ/หรือธุรกิจมีผลตอบแทนสูง เพื่อสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว ทั้งนี้บริษัทโฮลดิ้งส์ยังคงมุ่งเน้นในการลงทุนในบริษัทที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันภัยเป็นหลัก

ทั้งนี้บริษัท บีเคไอ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นบริษัทใหญ่ของบริษัท และธุรกิจอื่น ๆ ของบริษัทโฮลดิ้งส์ในอนาคต โดยจะดำเนินธุรกิจในลักษณะบริษัทลงทุนที่ไม่ได้ทำธุรกิจของตนเอง (Non-operating holding company) โดยบริษัทโฮลดิ้งส์จะมีบทบาทและขอบเขตการประกอบธุรกิจดังนี้

– กำหนดแผนยุทธศาสตร์ กำหนดนโยบายของบริษัทโฮลดิ้งส์ และการบริหารจัดการทรัพยากร ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

– จัดสรรเงินลงทุนในธุรกิจที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดี และสร้างการเติบโตให้แก่บริษัทโฮลดิ้งส์ อย่างต่อเนื่อง

– ประสานการทำธุรกิจระหว่างบริษัทย่อยและบริษัทร่วมของบริษัทโฮลดิ้งส์ เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันทางธุรกิจ (Synergy) และการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่บริษัทโฮลดิ้งส์

– กำกับดูแลโดยเพิ่มความคล่องตัวให้แก่บริษัท และธุรกิจอื่น ๆ ในอนาคต ให้ได้มีการบริหารงานอย่างเป็นอิสระ มีผู้บริหารที่เป็นมืออาชีพ และสามารถกำหนดกลยุทธ์การทำธุรกิจให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่จะสร้างการเติบโตและผลตอบแทนอย่างยั่งยืน

– ขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ที่สร้างการเติบโตให้แก่บริษัทโฮลดิ้งอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

– กำหนดนโยบายและกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจ การบริหารความเสี่ยง และการบริหารความ ต่อเนื่องทางธุรกิจของบริษัท และธุรกิจอื่น ๆ ในอนาคต

กำไร 1.6 พันล้าน

สำหรับงวด 6 เดือนแรกปีนี้ BKI มีกำไรสุทธิ 1,690 ล้านบาท เฉพาะไตรมาส 2/66 มีกำไรสุทธิ 806.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 88.1% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) สาเหตุการเพิ่มขึ้นคือ

1.กำไรจากการรับประกันภัย 599.4 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีผลขาดทุนจากการรับประกันภัย 2,157.3 ล้านบท เนื่องจากมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน COVID-19 เมื่อปีก่อน จึงส่งผลให้กำไรจากการรับประกันภัยเพิ่มขึ้น 2,756.7 ล้านบาท คิดเป็นอัตรา 127.8%

2.กำไรจากการลงทุนสุทธิ 312.5 ล้านบาท เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีจำนวน 3,107.5 ล้านบาท ลดลง 2,795 ล้านบาท คิดเป็นอัตราลดอง 89.9% สาหตุหลักมาจากกำไรจากเงินลงทุนลดลง 2,830.2 ล้านบาท

3.ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 105.6 ล้านบาท เทีบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีจำนวน 521.5 ล้านบาท ลดลง 415.9 ล้านบาท คิดเป็นอัตราลดลง 79.7% ซึ่งเป็นผลจากผลกระทบทางภามีสุทธิของรายได้หรือค่าใช้จ่ายที่ไม่ถือเป็นรายได้หรือค่าใช้จ่ายทางภาษีและขาดทุนทางภาษี