แนวรบใหม่”ดิจิทัลแบงกิ้ง” แบงก์เฉือนเนื้อชิง 90 ล้านบัญชี

ยกเลิกค่าฟี
สมรภูมิเดือดหมดยุคเสือนอนกิน 5 แบงก์ใหญ่เปิดเกมเฉือนเนื้อ “ยกเลิกค่าฟี” ธุรกรรมดิจิทัล ชิงลูกค้าเงินฝาก 90 ล้านบัญชี สกัดย้ายค่ายดึงลูกค้าขึ้นบนมือถือ ปิดประตูคู่แข่งนอกวงการ ชี้จุดเริ่มสงครามปั๊มรายได้ผ่านโมบายแบงกิ้ง “ปรีดี ดาวฉาย” ย้ำจุดเปลี่ยนแบงก์ไทยกำไรวูบ ปิดสาขาเร็วขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรฯเผยกระทบรายได้แบงก์ปีละ 2 หมื่นล้าน จับตาเกมใหม่ “ดิจิทัลไอดี” กรุงศรีฯจัดหนักคืนเงิน 5 บาท/บิล

 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า สมรภูมิการแข่งขันของอุตสาหกรรมแบงก์พาณิชย์มาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ หลังจากธนาคารไทยพาณิชย์ (เอสซีบี) เปิดเกมรบใหม่ด้วยการชิงธงยกเลิกค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) การโอนเงินทั้งข้ามธนาคาร ข้ามเขต จ่ายบิล เติมเงินบนแพลตฟอร์มมือถือ ตั้งแต่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้แบงก์พาณิชย์ใหญ่ ทั้งกสิกรไทย กรุงไทย และแบงก์กรุงเทพ ต่างประกาศยกเลิกค่าฟีแบบตลอดชีพ (ยกเว้นแบงก์กรุงไทยถึงสิ้นปี 2561) ตามมา และล่าสุดธนาคารกรุงศรีอยุธยา รวมทั้งเกียรตินาคิน ธนชาต ก็ยกเลิกค่าฟีเช่นกัน เพื่อรักษาฐานลูกค้าไม่ให้ย้ายค่ายไปหาคู่แข่ง โดยทุกแบงก์ยอมเฉือนเนื้อรายได้ค่าฟี เรียกว่า “หมดยุคเสือนอนกิน” ของแบงก์พาณิชย์

สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมรวมของแบงก์ทั้งระบบของปี 2560 อยู่ที่ 1.88 แสนล้านบาท และเป็นตัวเร่งให้ลูกค้าแบงก์ย้ายขึ้นไปอยู่บนมือถือเร็วขึ้น ถือเป็นการเปิดสงครามรอบใหม่ของอุตสาหกรรมแบงก์ และสร้างจุดเปลี่ยนการแข่งขันในการก้าวสู่ยุคสังคมไร้เงินสดแบบเต็มตัว

เปิดเกมดูดลูกค้า “ย้ายค่าย”

นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส chief marketing officer ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามเขต จ่ายบิล เติมเงิน กดเงินไม่ใช้บัตร ส่งผล กระทบต่อค่าฟีของธนาคารหลายร้อยล้านบาท แต่ทำให้ลูกค้าเข้ามาอยู่บนแอปพลิเคชั่น และเปิดใช้แอปพลิเคชั่นมากขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดจะหนุนให้จำนวน ทรานแซ็กชั่น ผ่านแอปบนมือถือเพิ่มขึ้น 20-30% หลังยกเลิกค่าฟีครั้งนี้

Advertisment

“ยอดลูกค้าที่จะหันมาสมัครแอปอาจไม่ใช่เฉพาะลูกค้าธนาคารเท่านั้น แต่ธนาคารมีโอกาสได้ทั้งลูกค้าธนาคารอื่น และลูกค้าจากน็อนแบงก์ คาดว่าในครึ่งปีแรกจะเห็นยอดดาวน์โหลดแอป SCB EASY เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 8 ล้านบัญชี และสิ้นปีเพิ่มเป็น 10 ล้านบัญชี จากปัจจุบันมี 6.5 ล้านบัญชี ขณะที่ยอดการใช้งานผ่านแอปจะมียอดแอ็กทีฟเพิ่มขึ้นแตะระดับ 80% จากปัจจุบัน 75%

และเมื่อลูกค้าอยู่บนแอป ไม่ต้องไปทำธุรกรรมที่สาขา ค่าฟีที่หายไปถือว่าคุ้ม และอยู่ระหว่างการเซอร์เวย์ธุรกรรมอื่น ๆ ที่มีการคิดค่าฟี อาจขยายผลการยกเลิกค่าฟีไปสู่บริการอื่นด้วย แต่ธุรกรรมที่ตู้เอทีเอ็มยังไม่มีแผนที่จะลด”

ตีกันแพลตฟอร์มต่างชาติ

นายธนากล่าวว่า เหตุผลสำคัญของการลดค่าฟี ไม่ใช่แข่งกับแบงก์ด้วยกันเอง แต่สิ่งที่กลัวคือ การดิสรัปต์จากแพลตฟอร์มต่างประเทศ เช่น อาลีบาบา หรืออื่น ๆ ที่เข้ามา เพราะท้ายที่สุดก็หวังเข้าไปปล่อยสินเชื่อให้ ดังนั้นการที่แบงก์เริ่มก่อน และดึงคนมาอยู่บนดิจิทัลได้มากที่สุดจะเพิ่มโอกาสการอยู่รอดมากขึ้น

Advertisment

“การมีคู่แข่งทำให้เกิดการแข่งขัน และเราก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน แต่ทุกอย่างที่ทำไม่ได้เพื่อขึ้นเบอร์หนึ่ง แต่กลัวคนที่อยู่นอกสนามมากกว่า เราเห็นแบงก์ล่มกันเยอะเพราะแพลตฟอร์มต่างประเทศ”

ต่อยอดปล่อยกู้-ขายกองทุน

นายธนากล่าวอีกว่า การดึงลูกค้ามาอยู่บนแอปจะสร้างรายได้ให้ธนาคารในอนาคต เพราะวันนี้สิ่งสำคัญคือ การมีดาต้าข้อมูลลูกค้า เมื่อข้อมูลลูกค้าชัดเจนธนาคารจะเข้าไปปล่อยกู้ผ่านแอปพลิเคชั่นได้ ปัจจุบันธนาคารเริ่มปล่อยกู้ให้ลูกค้าผ่านแอปแล้วราว 7 หมื่นทรานแซ็กชั่น และในอนาคตจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

การที่ธนาคารมีข้อมูลชัดเจนขึ้นทำให้แยกกลุ่มลูกค้าได้ชัดเจน และอาจนำไปสู่การลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลูกค้าที่ดีเป็นรายคนได้ ต่างจากปัจจุบันที่การคิดดอกเบี้ยเงินกู้เป็นแบบเหมาเข่ง มีการนำความเสี่ยงจากกลุ่มลูกค้าไม่ดีเข้ามาด้วย ทำให้การคิดดอกเบี้ยกู้อยู่ในระดับสูง และการดึงให้คนมาอยู่บนดิจิทัลธนาคารจะมียอดเงินฝากเพิ่มทำให้ลูกค้าซื้อกองทุนมากขึ้น ดังนั้นธุรกรรมเหล่านี้จะยิ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และสร้างรายได้ให้ธนาคารในอนาคต

สาขาปิดตัวเร็วขึ้น-ลดรายจ่าย

ขณะที่นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การแข่งกันลดค่าฟีทำให้เกิดจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมแบงก์ที่ต้องปรับตัวหลายด้าน เพราะรายได้จากค่าฟีที่เคยมีลดลง รวมถึงสาขาแบงก์ที่อาจเห็นการทยอยปรับลดลงเร็วกว่าที่ประเมินไว้

โดยสาขาแบงก์มีบทบาทลดลงต่อเนื่องจากปี 2558 ที่ธนาคารพาณิชย์ 14 แห่งมีสาขาอยู่ที่ 7,000 สาขา มาลดลงแตะ 6,900 สาขาในปี 2559 และปี 2560 ลดลงมาเกือบแตะระดับ 6,600 สาขาแล้ว ดังนั้นพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจึงเป็นตัวเร่งให้เกิดความต้องการสาขาน้อยลง ทำให้แบงก์ต้องปรับตัวมากขึ้นในอนาคต

“หากผู้บริโภคเปลี่ยนเร็ว ผลกระทบต่อระบบแบงก์ก็เร็วขึ้น เพราะหากลูกค้าย้ายมาอยู่บนมือถือหลังแบงก์ลดค่าฟี แบงก์ก็จะไม่มีรายได้ค่าฟีที่ยกเลิกทันที ก่อนตัดสินใจลดค่าฟีทุกคนก็รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น รายได้กระทบทันที และจะเห็นชัดขึ้นในไตรมาส 2 ขณะที่แบงก์ก็ต้องพยายามลดรายจ่าย คือลดการใช้เงินสด เพราะแต่ละปีทั้งอุตสาหกรรมมีต้นทุนบริหารเงินสดกว่า 1 แสนล้านบาท พร้อมกับหารายได้เพิ่ม อย่างไรก็ตามต่อไปคงไม่เห็นผลประกอบการแบงก์โตสูงเหมือนเมื่อก่อน เพราะแม้ว่าจะพยายามเพิ่มรายได้หรือลดรายจ่าย แต่ก็จะไม่ทันกับรายได้ที่หายไป” นายปรีดีกล่าว

ทั้งนี้ หากดูยอดชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์สิ้นปี 2560 ปริมาณการทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอยู่ที่ 1 ล้านล้านทรานแซ็กชั่น จากปี 2559 ธุรกรรมผ่านโมบายเพียง 6 แสนล้านทรานแซ็กชั่น

สงครามค่าฟี “ลาม” บริการอื่น

นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า จากการยกเลิกค่าฟีครั้งนี้คาดว่าจะมีผลกระทบราว 10-15% จากค่าฟีรวมของธนาคาร เพราะปัจจุบันการทำธุรกรรมของลูกค้าธนาคารส่วนใหญ่อยู่ออนไลน์ 60-70% ขณะที่อีก 30% เป็นการทำธุรกรรมผ่านตู้เอทีเอ็มและช่องทางอื่น ๆ วันนี้ธนาคารมีลูกค้าแอปอยู่ที่ 8.1 ล้านบัญชี ก็คาดว่าสิ้นปีนี้ก็น่าจะเห็นลูกค้าแอปอยู่ที่ 10 ล้านบัญชี

“วันนี้แบงก์ต้องยอมเสียค่าธรรมเนียม เราก็ต้องตัดใจ และอนาคตก็อาจเห็นแบงก์ขยายลดค่าฟีในช่องทางอื่น ๆ ด้วย เช่น เอทีเอ็ม เพราะทิศทางไปทางนี้ แต่ถามว่าอนาคตจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ลูกค้าที่เคยใช้ 3 แบงก์จะย้ายมาแบงก์เราก็เป็นไปได้ ซึ่งอาจทำให้เราสามารถหักกลบกับรายได้ส่วนที่หายไปได้บ้าง แต่วันนี้ตั้งแต่ลดค่าฟีสิ่งที่เห็นทันทีคือ ยอดการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว จาก 1.2 หมื่นครั้งต่อวินาที เป็น 2.5 หมื่นครั้งต่อวินาที ที่กดมาทำรายงานผ่านแอปธนาคาร” นายพัชรกล่าว

เกมใหม่ปั๊มรายได้โมบายแบงกิ้ง

ขณะที่นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่ธนาคารขนาดใหญ่ออกมาแข่งยกเลิกค่าธรรมเนียมรอบนี้ ส่วนหนึ่งคือต้องการรักษาฐานลูกค้าเก่าไว้ภายใต้การแข่งขันที่ร้อนแรง รวมถึงต้องการหาจังหวะเพิ่มฐานลูกค้า เพราะการแข่งยกเลิกค่าฟีครั้งนี้แบงก์ไหนขยับก่อนก็ถือว่าได้เปรียบเพราะเชื่อว่าผู้บริโภคจะมีทางเลือกมากขึ้น ดังนั้นแบงก์ไหนไม่ลดก็อาจสูญเสียลูกค้าได้ เพราะไม่เพียงแค่ลูกค้าแบงก์เท่านั้นที่ต้องการหาแบงก์หลักในการใช้ทำธุรกรรม โอน จ่าย เติม แต่ลูกค้าน็อนแบงก์ที่ทำอีวอลเลตต่าง ๆ ก็อาจย้ายมาใช้แอปของธนาคารได้

“ปัจจุบันบัญชีเงินฝากทั้งระบบมีกว่า 90 ล้านบัญชี ประชากรของประเทศราว 75% มีบัญชีเงินฝาก ขณะที่มียอดการสมัครแอปพลิเคชั่น หรือโมบายแบงกิ้ง 33 ล้านบัญชี แต่ในจำนวนนี้คนหนึ่งมี 1-2 บัญชี แต่เมื่อทุกแบงก์เลิกค่าฟี คนก็ไม่จำเป็นมีหลายแอปหลายธนาคารแล้ว เพราะมีแบงก์เดียวก็สามารถทำธุรกรรมได้ครบหมด ทำให้ลูกค้าจะเก็บเงินไว้ในบัญชีนานขึ้น ไม่จำเป็นต้องกระจายเงินไปบัญชีอื่น ๆ เหมือนแต่ก่อน ซึ่งการเลิกค่าฟีธนาคารยอมแลกเพราะจะได้อะไรอีกเยอะมากจากโมบายแบงกิ้ง” นายฐากรกล่าว

“ดิจิทัลไอดี” จุดเปลี่ยน

นายฐากรกล่าวว่า ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างรวดเร็วไปบนแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการใช้งานผ่านตู้เอทีเอ็มน้อยลง โดยเมื่อปี 2560 การกดเงินผ่านตู้เอทีเอ็มทั้งระบบอยู่ที่ 8 ล้านล้านบาท แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็น่าจะทำให้การกดเงินสดลดลง 20-30% ในปีนี้

รวมถึงกระทบต่อการทำธุรกรรมที่สาขาให้ลดลงต่อเนื่อง เพราะการทำธุรกรรมบนดิจิทัลทำเกือบได้ครบ และอนาคตเมื่อเกิดดิจิทัลไอดี หรือการพิสูจน์ตัวตน e-KYC ที่มีการเชื่อมต่อข้อมูลทุกอย่าง ทั้งข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลราชการ หรือต่าง ๆ จะยิ่งทำให้การทำธุรกรรมในสาขาลดลงไปอีก เพราะเมื่อมีการใช้ดิจิทัลไอดี แบงก์สามารถดึงข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ มาใช้ ลูกค้าไม่จำเป็นต้องไปสาขาเพื่อเปิดบัญชีอีกแล้ว ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสาขาแบงก์ที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจากนโยบายของคลังกำหนดให้เริ่มนำมาใช้ในช่วงกลางปีนี้

โดยปัจจุบันธนาคารกรุงศรีฯมีลูกค้าบัญชีเงินฝาก 6 ล้านบัญชี และลูกค้าแอป 3 ล้านบัญชี ขณะที่ยอดแอ็กทีฟอยู่ที่ 1.6-1.7 ล้านบัญชี เมื่อธนาคารยกเลิกค่าฟีก็จะกระตุ้นให้ลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่หันมาสมัครแอปเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าสิ้นปีลูกค้าแอปจะอยู่ที่ 3.5 ล้านบัญชี และจำนวนแอ็กทีฟจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 ล้านบัญชี

สำหรับธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมเป็นแบงก์ที่ 5 โดยฟรีค่าธรรมเนียมบนช่องทางดิจิทัล โอนเงินข้ามเขตข้ามธนาคาร จ่ายบิลค่าสินค้าและบริการ เติมเงินมือถือ และกดเงินผ่านแอปของธนาคารแบบไม่จำกัดจำนวนครั้ง เพิ่มเติมจากเดิมที่ให้กดเงินฟรีที่ตู้ ATM ทั่วประเทศ ตั้งแต่ 1 เม.ย.เป็นต้นไป และพิเศษสำหรับลูกค้าที่ทำธุรกรรมจ่ายบิล ทุกบิลจะได้รับเงินคืน 5 บาท (cash back) ทุกบิลผ่านช่องทางออนไลน์เป็นเวลา 6 เดือน สูงสุด 30 บาทต่อเดือน ตั้งแต่ 1 เม.ย.-30 ก.ย. 2561

แบงก์โยกขึ้นค่าฟีบริการอื่น

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนค่าธรรมเนียมประเภทการโอนเงินต่าง ๆ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์รวมพร้อมเพย์ อยู่ที่ 7-10% ของค่าฟีทั้งหมด ดังนั้นหากประเมินค่าฟีที่อาจลดลงจากการยกเลิกค่าฟีของธนาคารน่าจะอยู่ที่ปีละ 15,000-20,000 ล้านบาท โดยในส่วนของปีนี้น่าจะอยู่ที่ 9,000 ล้านบาท

การยกเลิกค่าฟีการโอนต่าง ๆ จะเป็นผลกระทบระยะสั้นต่อธุรกิจธนาคาร ทำให้ค่าฟีชะลอตัวลง แต่ยังมีการเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากธนาคารมีรายได้ค่าฟีมาจากหลายส่วน ซึ่งส่วนอื่น ๆ ยังมีการเติบโตดี เช่น ค่าฟีจากการเป็นนายหน้าขายกองทุน บัตรเครดิต บริการรับฝากทรัพย์สิน ฯลฯ แม้ว่าระยะสั้นมองว่าจะกระทบกับกำไรบางส่วนของธนาคารแต่ไม่กระทบมากนัก เพราะธนาคารต้องมีการบริหารจัดการต้นทุนผ่านการเพิ่มค่าฟีบริการใหม่ ๆ ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมมีสัดส่วนเพียง 20% ของรายได้รวม

“การลดค่าฟีของธนาคารจะเป็นการดึงดูดฐานลูกค้าใหม่ให้เข้ามาใช้บริการ ส่วนหนึ่งธนาคารจะได้ฐานข้อมูล และจะต่อยอดให้ธนาคารสามารถครอสเซลไปผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้ และจะได้รายได้กลับมาในทางอื่น ๆ เช่น รายได้ฝั่งสินเชื่อ ฯลฯ” นางสาวธัญญลักษณ์กล่าว

อย่างไรก็ตามปี 2560 ที่ผ่านมาฐานรายได้ค่าฟีทั้งภาคธุรกิจอยู่ที่ 190,000 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าฟีการโอนเงินที่มาจากช่องทางอิเล็กทรอนิกส์รวมทั้งพร้อมเพย์ประมาณ 20,000 ล้านบาท

เคแบงก์กระทบหนักสุด

นางสาวอุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลกระทบจากการยกเลิกค่าฟีคิดเป็น 5% ของรายได้ค่าธรรมเนียมทั้งหมด ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมที่เหลือส่วนใหญ่ของแบงก์ได้แก่ กำไรขาดทุนจากเงินลงทุน, กำไรขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX), ที่ปรึกษาการเงิน, การให้สินเชื่อและการขายประกันยังคงมีแนวโน้มขยายตัว ซึ่งการลดค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะบั่นทอนการเติบโตของค่าธรรมเนียมโดยรวม และอาจจะกดดันการเติบโตระยะยาว

ขณะที่คาดว่าการแข่งขันในรอบนี้แบงก์ที่จะถูกผลกระทบมากที่สุดคือกสิกรไทย เพราะมีฐานลูกค้าออนไลน์มากที่สุด คาดว่าจะมีผลกระทบประมาณ 6-7% ของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยรวม, ตามมาด้วยไทยพาณิชย์ ราว 4-5% ของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยรวม, กรุงไทย 4% ของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยรวม และธนาคารกรุงเทพราว 5% ของรายได้ค่าธรรมเนียมรวม

อย่างไรก็ตาม มองว่าแม้เบื้องต้นการยกเลิกค่าฟีอาจมีผลกระทบต่อแบงก์บ้าง แต่ระยะยาวถือว่าเป็นประโยชน์เพราะจะมีฐานลูกค้าที่มาใช้ช่องทางดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้แบงก์ได้ข้อมูลลูกค้าเพื่อไปวิเคราะห์ว่าจะออกโปรดักต์หรือผลิตภัณฑ์อะไรที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ในอนาคต ซึ่งข้อมูลลูกค้าในยุคปัจจุบันถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ประกอบกับยังช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการเงินสด และแผนในการลดสาขารวมถึงจำนวนพนักงานของแบงก์ได้มากขึ้น

“อีวอลเลต” ปรับตัวสู้

นายปุณมาศ วิจิตรกุลวงศา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป จำกัด และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแอปพลิเคชั่นของธนาคารพาณิชย์สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของธุรกิจจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อรักษาลูกค้าเดิม และขยายฐานลูกค้ามายังกลุ่มใหม่ที่ได้รับความสะดวกจากการใช้บริการโมบายแบงกิ้ง ขณะเดียวกันส่งผลให้บริการประเภทอีวอลเลตต่าง ๆ ต้องปรับตัว และสร้างคุณค่าให้กับบริการของตนเองมากขึ้น ซึ่งบริการ “ทรูมันนี่” มีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว

ด้านนายอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ ไลน์ ประเทศไทย กล่าวว่า การทำธุรกิจในปัจจุบันต้องเข้าใจในเทคโนโลยีเพื่อที่จะคิดบริการใหม่ ๆ และให้ความสำคัญกับดาต้าเพื่อเพิ่มความเร็วในการพัฒนาบริการให้ดีขึ้น และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า อย่ายึดติดกับรูปแบบเดิม ๆ ดังเช่น กรณีเอสซีบี ปกติแบงก์จะมีแอปพลิเคชั่นโมบายแบงกิ้งอยู่แล้ว คือ “เอสซีบี อีซี่” แต่การผลักดันให้คนมาโหลดแอปพลิเคชั่นคงยาก หากเดินเกมเดียวกับคู่แข่งต้องใช้เวลาจึงก้าวข้ามแอปพลิเคชั่น โดยนำบริการฝังไว้ในแอปพลิเคชั่น “ไลน์” ด้วย ทำให้มีคนเข้ามาใช้บริการถึง 2 ล้านรายภายในเวลาไม่กี่เดือน และทำให้มีประสบการณ์การใช้งานผ่านแอปพลิเคชั่นดีขึ้นจากต้องกดแอปพลิเคชั่นถึง 4 คลิก แต่เมื่อมาอยู่ในไลน์เพียงแค่คลิกเดียว

ฟาดหางธุรกิจเพย์เมนต์

นายมนตรี สิทธิญาวณิชย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ห้างเซ็นทรัล ดีพาทเมนท์สโตร์ จำกัด ผู้ให้บริการชำระเงิน CenPay กล่าวว่า จากการแข่งขันลดค่าฟีที่เกิดขึ้นส่งผลให้ในอนาคตบริษัทมีการปรับลดค่าฟีลงเพื่อแข่งขันเช่นกัน โดยปัจจุบันบริษัทคิดค่าบริการอยู่ที่ 5-7 บาท/รายการ แต่บริษัทมีจุดแข็งคือความร่วมมือจากพันธมิตรในเครือข่าย มีแคมเปญเพื่อดึงดูดความสนใจลูกค้า เช่นสะสมคะแนนและเป็นเงินเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ ชิงโชค ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีจุด CenPay กว่า 8,000 จุดทั่วประเทศ แต่อย่างไรก็ตามจากการแข่งขันลดค่าฟีที่เกิดขึ้นอาจส่งผลให้ในอนาคตทางบริษัทมีการปรับลดค่าฟีลงเพื่อแข่งขันเช่นกัน