ต้นปีแห่ขายกองทุนใหม่พรึ่บ เงินเข้า 1.5 แสนล้าน หวั่นภาษีบอนด์ฉุด

“มอร์นิ่งสตาร์ฯ” เผย 2 เดือนแรกปี 2561 บลจ.แห่ออกกองทุนรวมใหม่ 60 กองทุน ดึงเงินไหลเข้าอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยกว่า 1.48 แสนล้านบาท ด้าน “บลจ.ทิสโก้” เล็งเปิด 10 กองทุนใหม่ ตั้งเป้า AUM ปีนี้โต 10% ฟาก “บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล” หวั่นรัฐเก็บภาษีกองทุนตราสารหนี้ทำเงินไหลออก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวมนับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีการเติบโตต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ณ สิ้นเดือน ก.พ. 2561 พบว่า กองทุนรวมไทยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ระดับ 5,094,511 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นราว 1.20% จากสิ้นปี 2560 ที่อยู่ระดับ 5,034,259 ล้านบาท ซึ่งแม้ปัจจุบันจำนวนกองทุนรวมทั้งหมดจะอยู่ที่ 1,505 กองทุน ลดลงจากช่วงสิ้นปี 2560 ที่มี 1,513 กองทุนก็ตาม

ขณะที่ข้อมูลจากบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) พบว่า ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2561 มีกองทุนรวมที่เปิดใหม่จำนวน 60 กองทุน ส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลเข้ามาในอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยคิดเป็นมูลค่ารวมกันกว่า 148,098,959,704 บาท โดยกองทุนที่ได้รับความนิยมในการเปิดกองใหม่มากที่สุด ได้แก่ กองทุนรวมตราสารหนี้ที่ลงทุนต่างประเทศแบบกำหนดอายุ (Foreign Investment Bond Fix Term) ซึ่งมีเปิดใหม่กว่า 30 กองทุน โดยมูลค่ารวมสูงสุดกว่า 8.9 หมื่นล้านบาท รองลงมาเป็นกองทุนรวมหุ้นโลก (Global Equity) เปิดใหม่จำนวน 5 กองทุน มูลค่ารวม 3,100 ล้านบาท และกองทุนรวมตราสารหนี้ไทยแบบกำหนดอายุ (Bond Fix Term) เปิดใหม่ 4 กองทุน มูลค่ารวม 4,000 ล้านบาท

ส่วนประเภทกองทุนรวมที่มีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.กองทุนรวมตราสารหนี้ที่ลงทุนต่างประเทศแบบกำหนดอายุ (Foreign Investment Bond Fix Term) 2.กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น (Short Term Bond) 3.กองทุนรวมผสมที่กระจายการลงทุนแบบความเสี่ยงต่ำ (Conservative Allocation) 4.กองทุนรวมหุ้นเอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่น (Asia Pacific ex-Japan Equity) และ 5.กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาว (Mid/Long Term Bond)

สำหรับกองทุนรวมที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุดในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ได้แก่ 1.กองทุนรวมหุ้นใหญ่ (Equity Large-Cap) ซึ่งสร้างผลตอบแทนประมาณ 3.90% 2.กองทุนรวมหุ้นจีน (China Equity) ผลตอบแทน 2.76% และ 3.กองทุนผสมแบบยืดหยุ่นซึ่งไม่กำหนดสัดส่วนการลงทุน (Aggressive Allocation) ผลตอบแทน 2.56%

นายสาห์รัช ชัฎสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาดและที่ปรึกษาการลงทุนธุรกิจกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยปี 2561 นี้ คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปีก่อนที่เติบโตประมาณ 10% โดยปีนี้บริษัทมีแผนจะเปิดกองทุนรวมใหม่ประมาณ 10 กองทุน โดยที่ผ่านมาเปิดไปแล้ว 4 กองทุน แบ่งเป็นกองทุนทริกเกอร์ฟันด์ 3 กองทุน และกองทุนรวมที่ออกไปลงทุนในตลาดต่างประเทศ 1 กองทุน ซึ่งคาดว่าภายในเดือน เม.ย.นี้จะเปิดกองทุนใหม่เพิ่มเติมอีก 1 กองทุน และช่วงครึ่งปีหลังอีกประมาณ 5 กองทุน

“บริษัทตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การจัดการ (AUM) เพิ่มขึ้นประมาณ 25,000 ล้านบาท หรือเติบโตราว 10% จากสิ้นปีก่อนที่อยู่ระดับ 2.5 แสนล้านบาท โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา บริษัทมีเงินไหลเข้าแล้วประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท หรือขยายตัว 1-2% จากสิ้นปีก่อน” นายสาห์รัชกล่าว

นายวิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล กล่าวว่า ภาพรวมตลาดกองทุนรวมไทยที่ผ่านมา ถือว่ายังเติบโตอยู่ เพราะผู้ลงทุนมีการกระจายการลงทุนมากขึ้น ขณะที่ผู้ออกกองทุนอย่าง บลจ.ก็มีการออกกองใหม่ ๆ ที่หลากหลาย เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้มีทางเลือกมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ประเมินว่า ปีนี้อาจจะเหนื่อยกว่าปี 2560 ที่ผ่านมา ที่ตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากแล้ว ซึ่งยังไม่นับรวมกับแรงกดดันจากการจัดเก็บภาษีกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ของภาครัฐ ที่เชื่อว่าจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมแน่นอน โดยเฉพาะความเสี่ยงที่อาจกดดันให้เงินที่อยู่ในกองทุนประเภทดังกล่าวไหลออกไปยังเงินฝากแทน หรือเลี่ยงไปในกองที่ไปลงทุนในกองทุนรวมในต่างประเทศ (ฟีดเดอร์ฟันด์) แทนได้

“ปัจจุบัน AUM ของบริษัทอยู่ที่ระดับ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งเติบโตจากช่วงสิ้นปี 2560 ที่อยู่ระดับ 1.1 แสนล้านบาท โดยคาดว่าปีนี้จะมีเงินไหลเข้ามาในธุรกิจกองทุนรวมประมาณ 1 หมื่นล้านบาท หลังจากในช่วงที่ผ่านมาไหลเข้ามาแล้วราว 3,000-4,000 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าเปิดกองทุนใหม่ปีนี้จำนวน 4 กองทุน โดยจะเน้นกองทุนที่มีคุณภาพมากขึ้น” นายวินกล่าว