ก.ล.ต. ปลื้มกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 4 แห่ง เดินหน้ารับการปฏิบัติตามหลัก I Code

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่าปัจจุบันมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ประกาศรับการปฏิบัติตาม I Code แล้ว 4 แห่ง ได้แก่ (1) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (2) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (3) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัทร่วมทุน และ (4) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคารออมสิน โดยกองทุนทั้งหมดข้างต้นต่างก็เข้าร่วมและได้รับรางวัลจากการประกวดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดีเด่นปีที่ 6 ประจำปี 2560 ซึ่งจัดโดยสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาด้วย นอกจากนี้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ก็ได้ประกาศรับการปฏิบัติตาม I Code ด้วยแล้วเช่นกัน

ทั้งนี้ มองว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลการลงทุนหรือ I Code ก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกได้ว่าคณะกรรมการกองทุนจะบริหารกองทุนโดยคำนึงถึงประโยชน์ของสมาชิกเป็นสำคัญ โดยหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดันให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งกับกองทุน สมาชิก และตลาดทุนไทยโดยรวมอย่างยั่งยืน

ขณะที่ ณ สิ้นปี 2560 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) 1,082,619 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.23 จากปี 2559 โดยกองทุนที่ (1)-(4) มี NAV รวมกันประมาณ 76,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อย 7 ของจำนวนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมด

อย่างไรก็ตามในปี 2568 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ คาดจะมีผู้สูงอายุเป็นจำนวนร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมดของประเทศ ก.ล.ต. จึงมีนโยบายสนับสนุนให้นายจ้างทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการช่วยผลักดันให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเครื่องมือการออมที่ตอบโจทย์ความต้องการของพนักงานและลูกจ้างในยามเกษียณ โดยกองทุนต้องมีโครงสร้างการบริหารจัดการที่ดี อาทิ การวางโครงสร้างผลตอบแทน การกำหนดบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการ และมีการตรวจสอบและประเมินผล พัฒนาความรู้ของสมาชิกอย่างสม่ำเสมอ และสามารถทำให้เงินทุนของสมาชิกงอกเงย พอเพียงสำหรับไว้ใช้จ่ายในชีวิตภายหลังเกษียณ

“การลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ เป็นการลงทุนระยะยาวที่ข้ามผ่านช่วงวัยต่าง ๆ จึงต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ก.ล.ต. จึงสนับสนุนให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนำ I Code ไปปรับใช้ เพื่อให้เป็นมาตรฐานสำหรับกองทุนในการคัดเลือกบริษัทจัดการลงทุนที่มีธรรมาภิบาลการลงทุน มีการลงทุนในกิจการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการกำกับดูแลกิจการที่ดี นอกเหนือจากปัจจัยด้านผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการลงทุนเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาวต่อสมาชิกกองทุนและตลาดทุนโดยรวม แม้ปัจจุบันกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่รับปฏิบัติตาม I Code ยังมีสัดส่วน NAV ที่น้อยเมื่อเทียบกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมด ก.ล.ต. หวังว่าจะมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประกาศรับปฏิบัติตาม I Code เพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งต้องขอชื่นชมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้ง 4 แห่งอย่างมากที่เป็นผู้ริเริ่มและพร้อมนำ I Code ไปปฏิบัติใช้ให้เกิดประโยชน์กับสมาชิกต่อไป” นายรพีกล่าว

Advertisment