ดอลลาร์แข็งค่า ตลาดจับตาตัวเลข CPI

ธนบัตร U.S.dollar banknotes
REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

ดอลลาร์แข็งค่า ตลาดจับตาตัวเลขเงินเฟ้อ(CPI) เดือนสิงหาคมของสหรัฐ คาดปรับเพิ่ม หลังราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่นักลงทุนคาดเฟดคงดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 19-20 กันยายน

วันที่ 13 กันยายน 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 13 กันยายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/9) ที่รดับ 35.67/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (12/9) ที่ระดับ 35.65/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

เนื่องจากดัชนีดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.14% แตะที่ระดับ 140.71 ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก

หลังนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไปซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.6% ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.2% ในเดือนกรกฎาคม และคาดว่าดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.3% ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.7% ในเดือนกรกฎาคม

โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนสิงหาคมของสหรัฐ จะทำการเปิดเผยในคืนวันนี้ (13/9) และดัชนีราคาผู้ผลิต ((PPI) เดือนสิงหาคมของสหรัฐจะทำการเปิดเผยในวันพรุ่งนี้ (14/9) อีกทั้ง โธมัส ฮาเยส นักวิเคราะห์จากบริษัท Great Hill Capital LLC กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ตลาดวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานาน

ขณะที่นักลงทุนบางส่วนกังวลว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมเดือนพฤศจิกายน โดยข้อมูลล่าสุดจาก FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 93% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 19-20 กันยายน และให้น้ำหนักเพียง 59.2% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤศจิกายน

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อวานนี้ (12/9) สหพันธ์ธุรกิจอิสระแห่งชาติสหรัฐ (NFIB) แถลงว่า ดัชนีควมเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมปรับตัวลงสู่ระดับ 91.3 ในเดือนสิงหาคม โดยเป็นการปรับตัวลงในครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเมษายน จากระดับ 91.9 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน โดยดัชนีได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และการขาดแคลนแรงงาน

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรก ซึ่งในการประชุมวันนี้ตลาดจับตามาตรการลดค่าครองชีพ ที่รัฐบาลใหม่จะออกมาเพื่อดูแลประชาชน อาทิ การลดค่าไฟฟ้า ลดราคาน้ำมัน การฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีน การพิจารณาเรื่องมาตรการพักหนี้เกษตรกรทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย รวมถึงจะมีการหารือเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ในส่วนของตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อวานนี้ (12/9) ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของไทยในเดือนสิงหาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 91.3 ปรับตัวลดลงจาก 92.3 ในเดือนกรกฎาคม 2566 โดยปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และต่ำสุดในรอบ 1 ปี เป็นผลจากการส่งออกที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าอ่อนแอลง

ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศไทยยังฟื้นตัวช้าจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้น และผลกระทบเอลนีโญต่อผลผลิตทางการเกษตร และความกังวลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลผสม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.54-35.73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.71/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/9) ที่ระดับ 1.0746/49 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (12/9) ที่ระดับ 1.0720/23 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยยูโรแข็งค่าขึ้นจากตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในวันพฤหัสบดีนี้ (14/9)

ในส่วนของตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยในวันนี้ (13/9) ได้แก่ การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนกรกฎาคมของอียู ปรับตัวลดลงโดยหดตัวลง 1.1% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะหดตัวลง 0.7% และต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ 0.4% ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0729-1.0764 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0739/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/9) ที่ระดับ 14733/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (12/9) ที่ 146.79/82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์สหรัฐ หลังนักลงทุนจับตาการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐ ในคืนนี้ (13/9) เพื่อประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ในส่วนของตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผย ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนสิงหาคมของญี่ปุ่น ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 0.3% เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 0.1% และสูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 0.1% โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 139.11-139.67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 147.25/30 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้และพรุ่งนี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนสิงหาคมของสหรัฐ (13/9), สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) (13/9), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (14/9), ยอดค้าปลีกเดือนสิงหาคมของสหรัฐ (14/9), ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนสิงหาคมของสหรัฐ (14/9), สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนกรกฎาคมของสหรัฐ (14/9) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) แถลงมติอัตราดอกเบี้ย (14/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.3/10.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 6.9/-6.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ