ดอลลาร์ปรับตัวในกรอบ จับตาดูผลประชุมเฟดสัปดาห์หน้า

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์ปรับตัวในกรอบ จับตาดูผลประชุมเฟดสัปดาห์หน้า เจพีมอร์แกน แอสเซต แมเนจเมนต์ คาด ธนาคารกลางสหรัฐจะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ แม้ราคาน้ำมันยังคงปรับตัวขึ้นในช่วงต้นเดือนกันยายน

วันที่ 14 กันยายน  2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/9) ที่ระดับ 35.68/70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (13/9) ที่ระดับ 35.75/77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ถึงแม้หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) โดยดัชนี CPI ทั่วไป ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.7% ในเดือน ส.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.6% ดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 0.6% ในเดือน ส.ค.เมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (cor CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.3% ในเดือน ส.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ด้านดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 0.3% ในเดือน ส.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี โดยทางเจพีมอร์แกน แอสเซต แมเนจเมนต์ คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ แม้ราคาน้ำมันยังคงปรับตัวขึ้นในช่วงต้นเดือน ก.ย. แต่คาดว่าผลกระทบของราคาน้ำมันที่มีต่อดัชนี (CPI จะอยู่ในกรอบจำกัด

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 97.0% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 19-20 ก.ย. และให้น้ำหนักเพียง 3.0% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.50-5.75%

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรกของรัฐบาลชุดใหม่ วันที่ 13 กันยายน 2566 โดย ครม.มีมติเห็นชอบปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าที่ประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้ารอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 ในอัตรา 4.45 บาท/หน่วย ลงเหลือในอัตรา 4.10 บาทต่อหน่วย โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จะเร่งปฏิบัติตามมติ ครม.โดยเร็วเพื่อไม่ให้ประชาชนเสียประโยชน์

นอกจากนี้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือน ส.ค. 66 ปรับสูงขึ้นสู่ระดับ 56.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 55.6 ในเดือน ก.ค. ได้รับปัจจัยบวกสำคัญจากการได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งช่วยสนับสนุนความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยบวกจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น หลังจากการเปิดประเทศ

และในส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม เดือน ส.ค.อยู่ที่ระดับ 51.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางาน อยู่ที่ระดับ 53.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 65.2 บ่งชี้ดัชนีทุกตัวปรับเพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ คาดว่ามาตรการฟรีวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวจีน ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2566 ถึง 29 ก.พ. 2567 จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งปีให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.3-0.5% และส่งผลให้ในไตรมาส 4 มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นถึงระดับ 3.8-4% ทั้งนี้ ในระหว่างวันค่าบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 35.64-35.79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 35.76/78 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/9) ที่ระดับ 1.0734/38 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (13/9) ที่ระดับ 1.0733/37 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยนักลงทุนจับตารอดูผลการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันนี้ (14/9)

ทั้งนี้นักวิเคราะห์ให้น้ำหนัก 64% ที่ ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ให้น้ำหนัก 40% เนื่องจากเงินเฟ้อยังไม่มีแนวโน้มชะลอตัว โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0730-1.0752 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0732/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/9) ที่ระดับ 147.11/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (13/9) ที่ 147.40/43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังดอลลาร์สหรัฐโดยสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเผยยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานของญี่ปุ่นลดลงสู่ระดับ -1.1% ในเดือน ก.ค. เมื่อเทียบรายเดือนต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ในผลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ที่ระดับ -0.9% ซึ่งสวนทางกับตัวเลขในเดือน มิ.ย.ที่ระดับ 2.7% โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 147.03-147.45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 147.28/31 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้และพรุ่งนี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (14/9), ยอดค้าปลีกเดือน ส.ค.ของสหรัฐ (14/9), สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือน ก.ค.ของสหรัฐ (14/9), ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือน ก.ย.จากเฟดนิวยอร์ก (15/9), การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค.ของสหรัฐ (15/9) และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือน ก.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (15/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.25/-10.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -6.60/-5.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ